thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

พระพุทธสิหิงค์มีสามองค์สองปางผ่านมาหลายอาณาจักร โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

Default sample caption text

พระพุทธสิหิงค์มีสามองค์สองปางผ่านมาหลายอาณาจักร โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

เป็นที่ทราบกันดีว่าราชอาณาจักรไทยมีพระพุทธรูปที่สําคัญอยู่มากมายจากช่วงสมัยต่างๆในอดีตและกระจายอยู่ในแต่ละภาคของแต่ละอาณาจักร พระพุทธรูปบางองค์มีอายุกว่าหลายร้อยปี บางองค์ก็หลายพันปี และจากตํานานต่างๆนั้นผู้ที่สร้างองค์พระมักเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้มีบุญญาธิการ พระสังฆราชผู้เป็นพระอริยเจ้าพระอริยสงฆ์ หรือแม้แต่เทวบุตรเทพยดาบนสวรรค์จำแลงร่างลงมาสร้าง เช่น พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ที่ผู้เขียนเคยอธิบายไปแล้ว ส่วนพระพุทธสิหิงค์ก็มีประวัติความเป็นมาที่น่าทึ่งทั้งในทางตำนาน ประวัติศาสตร์ และพุทธศิลป์ พระพุทธสิหิงค์มีถึงสามองค์และแสดงในสองปาง ต่างจากพระแก้วมรกตที่มีเพียงองค์เดียวปางเดียวแต่มีเครื่องทรงสามฤดู คำว่า “สิหิงค์” แปลว่า “มีอกอูมเหมือนสิงห์” ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะตามความเชื่อของชาวพุทธเนื่องจากเชื่อว่าพระพุทธองค์มีพระอุระ (อก) อวบอูมเหมือนราชสีห์หรือสิงห์ ซึ่งเป็นลักษณะสําคัญประการหนึ่งของมหาบุรุษ หรือพระพุทธสิหิงค์ อาจหมายถึงพระพุทธรูปลังกาที่สร้างโดยพระเจ้าแผ่นดินลังกาในสมัยก่อนที่พระรัตนปัญญา (ผู้แต่งชินกาลมาลีปกรณ์) เรียกองค์พระว่า “พระสีหลปฎิมา” แนวคิดนี้มาจากชื่อเรียก “ชาวลังกา” หรือ “ชาวสิงหล” จึงเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า “พระสิงห์” หรือ “พระพุทธสิหิงค์” หมายถึงพระพุทธรูปสิงหล พระพุทธสิหิงค์มีสามองค์ (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / 29 / เรื่องที่ 2 พระพุทธรูป / พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย) องค์แรก (หน้าตักกว้าง 25.98 นิ้ว สูง 31.10 นิ้ว เป็นศิลปะแบบลังกา) หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลว ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินลังกา (ศรีลังกา) เป็นผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ. 700 (1,867 ปีถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2567) ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงถึงลักษณะพระพุทธรูปแห่งอาณาจักรสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลศิลปะลังกา เพราะมีลักษณะที่สอดคล้องกับพระพุทธรูปลังกาและเป็นพระพุทธสิหิงค์สกุลช่างสุโขทัย จากตามประวัติพระพุทธสิหิงค์องค์แรกนี้ “สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2338 ถ้าพิจารณาจากลักษณะพระพุทธรูปมีลักษณะโดยรวมแล้วใกล้เคียงอย่างมากกับพระพุทธรูปล้านนาในกลุ่มที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยที่เรียกว่า “พระพุทธสิหิงค์แบบสิงห์สอง” โดยเฉพาะสังฆาฏิที่เป็นแผ่นใหญ่และลงมาจรดขอบสบงแล้วนี้ แสดงให้เห็นถึงกลุ่มที่มีอิทธิพลศิลปะอยุธยาที่ปรากฎในล้านนาซึ่งไม่เคยปรากฏในศิลปะสุโขทัยเลย เปรียบเทียบได้รับพระเจ้าเก้าตื้อทีวัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ โปรดให้หล่อข้นโดยพระเมืองแก้วในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ เพราะฉะนั้นพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์อาจเป็นพระพุทธรูปล้านนาในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ แล้วก็ได้” (ศักดิ์ชัย สายสิงห์. 2562. พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา. ศิลปวัฒนธรรม.) กล่าวโดยย่อพระพุทธสิหิงค์องค์แรกในอดีตได้เคยประดิษฐานอยู่ที่อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยา เมืองพิษณุโลก เมืองกําแพงเพชร เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ พระพุทธสิหิงค์องค์ที่สอง (หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว) หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลว ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร เป็นลักษณะพระพุทธรูปแห่งอาณาจักรล้านนา (แบบสิงห์หนึ่ง หรือ แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง) อายุราวอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 พระพุทธสิหิงค์องค์ที่สองสร้างโดยพระสังฆราชมีนามว่าพระศรีสัทธัมมไตรโลกรัตนจุฬามหาสังฆราช สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2012 (555 ปีถึงปัจจุบันพ.ศ. 2567) และมีจารึกที่ฐานองค์พระด้วยอักษรธรรมล้านนาภาษาบาลีและภาษาไทยวนว่า “ศรีสัทธัมมะมหาสังฆราชให้สร้างพระพุทธรูปสิหิงค์ขึ้นประทับนั่งเหนือบัลลังก์อัน ประเสริฐเหมือนพระอาทิตย์ปรากฏเหนือเขายุคันธรและเหมือนพระจันทร์งามเด่นอยู่บนท้องฟ้า… (ภาษาไทยวน) ศรีสัทธัมมะไตรโลกรัตนจุฬา มหาสังฆราช… ให้หล่อพระพุทธรูปสิหิงค์องค์นี้ เพื่อเป็นไม้ไต้แก่โลก และ (เพื่อ) คนทั้งหลายบูชา เป็นส่วนบุญอันจัก (นำ) ไปเกิดในเมืองฟ้าและนิพพาน ที่ไม่รู้จักแก่เถ้า และไม่รู้ตาย…ฐาน (ของพระพุทธรูปองค์นี้) มีน้ำหนัก 2,400″ (ฮันส์ เพนธ์. 2519. คำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในเวียงเชียงใหม่. หน้า 59.) และพระพุทธสิหิงค์องค์ที่สาม (หน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 16.80 นิ้ว) หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลวประดิษฐานอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แต่องค์พระอ้วนเตี้ยมากกว่าแบบอื่นจึงนิยมเรียกกันว่า “แบบขนมต้ม” โดยมีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาติสั้นระดับพระถัน พระพุทธสิหิงค์องค์ที่สามจัดเป็นฝีมือของสกุลช่างนครศรีธรรมราช (เป็น “ศิลปะอยุธยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช”) และถูกสร้างในสมัยอยุธยาในราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากพระพุทธสิหิงค์องค์ที่หนึ่งที่ถูกสร้างโดยพระเจ้าแผ่นดินลังกาและมีพระอรหันต์อีก 20 รูป ที่ได้ร่วมกันสร้างเมื่อพ.ศ. 700 มีปรากฏในสิหิงคนิทานเป็นตำนานที่กล่าวถึงประวัติการสร้างและการประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ แต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี เมื่อพ.ศ. 1945–1985 ในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกนแห่งราชวงศ์มังราย และนำเข้ามาสู่แผ่นดินสยาม จนถึงพระพุทธสิหิงค์องค์ที่สองและองค์ที่สาม พระพุทธสิหิงค์ทุกองค์มีความงดงามตามพุทธลักษณะทุกประการ ไม่ว่าจะอยู่ในปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบหรือปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรก็ตาม เพราะเมื่อผู้คนได้พบเห็นก็มักเกิดศรัทธาที่จะน้อมกราบนมัสการและระลึกถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มากราบนมัสการพระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตําบลพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ หรือสมัยก่อนคือวัดลีเชียงพระ (พระธาตุประจำปีเกิด) และมากราบนมัสการพระพุทธสิหิงค์อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต จะเป็นมหามงคลสูงสุดทำให้อายุยืนยาวและมีความเจริญรุ่งเรืองสถาพรตลอดไป วัดพระสิงห์วรมหาวิหารสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 โดยพญาผายู พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์มังราย