thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

นโม พุทฺธาย (นะโมพุทธายะ) อักขระพุทธคุณ โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล

Default sample caption text

นโม พุทฺธาย (นะโมพุทธายะ) อักขระพุทธคุณ โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล

นโม พุทฺธาย (นะโมพุทธายะ) หรือ คาถาพระเจ้าห้าพระองค์เป็นที่นิยมใช้สวดและเขียนในยันต์ผ่านตัวอักษรโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น อักษรขอม หรือ อักษรธรรม ในบทความนี้มาเรียนรู้ถึงที่มาและความหมายของคาถาบทนี้ไปด้วยกัน 

 

พระพุทธเจ้าคือใคร – พระพุทธเจ้าเป็นผู้ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อแสวงหาหนทางการพ้นทุกข์ อดทนสร้างบารมียาวนาน จนสามารถขจัดอาสวะกิเลสและบรรลุธรรมจนหลุดพ้นจากวัฏสงสารเข้าถึงฝั่งพระนิพพานได้ในที่สุด กล่าวคือพระพุทธเจ้าเป็นตำแหน่งของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดกิเลส จนพ้นทุกข์และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้นั่นเอง ในกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสั่งผู้อื่นจะเรียกว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า” แต่หากทุ่มเทสอนสั่งโดยมุ่งหวังให้สรรพสัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์ตามไปด้วยจะเรียกว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงอยู่ในฐานะเป็นบรมครูของพุทธศาสนิกชน 

 

อานิสงส์แห่งการเจริญพุทธานุสสติ – ในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑ เรื่องนายทารุสากฏิกะ ได้กล่าวถึงอานุภาพแห่งการเจริญพุทธานุสสติไว้ว่า ในกรุงราชคฤห์มีเด็กชาย ๒ คน เป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งเป็นลูกของชาวพุทธนับถือพระพุทธเจ้า อีกคนหนึ่งเป็นลูกของคนมิจฉาทิฏฐิ เด็กชายทั้ง ๒ คนนี้ ชอบเล่นขลุบ (การแข่งทอดลูกกลม ๆ) ด้วยกันเสมอ เด็กคนที่นับถือพระพุทธเจ้าจะระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า โดยกล่าวว่า “นโม พุทฺธสฺส” ทุกครั้งก่อนจะทอดขลุบ ส่วนเด็กอีกคนหนึ่งจะระลึกถึงคุณของเดียรถีย์ก่อนจะทอดขลุบเช่นกัน ผลการแข่งขันปรากฏว่าเด็กที่นับถือพระพุทธเจ้าชนะทุกครั้ง ในวันหนึ่งมีเหตุให้เด็กชาวพุทธนอนหลับอยู่ใต้เกวียนอยู่เพียงลำพัง ซึ่งสมัยนั้นในกรุงราชคฤห์ในเวลากลางคืนจะเต็มไปด้วยอมนุษย์ คืนนั้นมียักษ์ ๒ ตน ออกหากินในป่าช้า ตนหนึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ อีกตนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยักษ์มิจฉาทิฏฐิเห็นเด็กนอนหลับก็ตรงเข้าไปจะจับเด็กกินเป็นอาหาร ยักษ์สัมมาทิฏฐิรีบห้ามไว้ แต่ยักษ์มิจฉาทิฏฐิไม่ฟังตรงเข้าไปลากเด็กออกมา เด็กตกใจจึงอุทานด้วยความคุ้นเคยว่า “นโม พุทฺธสฺส” เพราะความที่ตนได้สั่งสมพุทธานุสติอยู่เนืองนิตย์ ทันทีที่ยักษ์ได้ยินพระนามของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ก็สะดุ้งหวาดกลัวรีบถอยห่างออกมาทันที ซึ่งคำว่า “นโม พุทธสฺส” แปลว่า “ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า” และ มีความหมายเดียวกันกับ “นโม พุทฺธาย” ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าการเจริญพุทธานุสสติด้วยคาถา “นโม พุทฺธาย” จึงมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์

 

คำว่า “นโม พุทฺธาย” จึงมักถูกใช้ในการขึ้นต้นคาถาเพื่ออัญเชิญสิงศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธ นั่นคือ พระพุทธเจ้า และพบว่ามีการใช้ในการขึ้นต้นศิลาจารึกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังนิยมนำมาเขียนเป็นยันต์ซึ่งมีการขยายความเพิ่มเติมเป็นคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ โดยนำมาผูกโยงกับพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัลป์ (นะ หมายถึง พระกกุสันธพุทธเจ้า, โม หมายถึง พระโกนาคมนพุทธเจ้า, พุท หมายถึง พระกัสสปพุทธเจ้า, ธา หมายถึง พระโคตมพุทธเจ้า, ยะ หมายถึง พระศรีอริยเมตไตรย) เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณวิเศษในด้านต่าง ๆ เช่น เมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี ขับไล่สิ่งอัปมงคลหรือสะเดาะเคราะห์ เป็นต้น