thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศาสนศึกษา)

หลักสูตรระดับ ปริญญาตรี
๑. ชื่อหลักสูตร
(ภาษาไทย) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสนศึกษา
(ภาษาอังกฤษ) Bachelor of Arts Program in Religious Studies
๒. ชื่อปริญญา
(ภาษาไทย) ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศาสนศึกษา)
(ภาษาอังกฤษ) Bachelor of Arts (Religious Studies)
ภาพรวมของหลักสูตร
ประเภทของหลักสูตร หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการ
จำนวนหน่วยกิต ไม่น้อยกว่า ๑๓๖ หน่วยกิต
ระยะเวลาการศึกษา / วงรอบหลักสูตร ๔ ปี ตามเกณฑ์ที่ สกอ. กำหนด
สถานภาพของหลักสูตร
และกำหนดการเปิดสอน
หลักสูตรปรับปรุง
กำหนดเปิดสอนในภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๒
การให้ปริญญา ให้ปริญญาเพียงสาขาเดียวจากมหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันผู้ประสาทปริญญา
(ความร่วมมือกับสถาบันอื่น)
มหาวิทยาลัยมหิดล
องค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐาน -
ข้อมูลเฉพาะของหลักสูตร
เป้าหมาย
Purpose/Goals
หลักสูตรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้แบบบูรณาการ สามารถนำความรู้ด้านสาขาวิชาศาสนศึกษาและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องตามหลักสูตรไปใช้งานได้จริง สามารถค้นพบศักยภาพของตนเองและพัฒนาตนได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความสามารถทางการสื่อสารและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหิดล
วัตถุประสงค์
Objectives
หลักสูตรมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
๑.  มีคุณภาพ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และสามารถพัฒนาตนเองทั้งด้านสุขภาพกายและใจ
๒.  สามารถคิดวิเคราะห์ บูรณาการความรู้และประยุกต์ความรู้จากสาขาวิชาศาสนศึกษาและวิทยาการต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์และนวัตกรรมสู่สังคม
๓.  มีทักษะทางการคิดเชิงวิพากษ์ คิดสร้างสรรค์และแสวงหาความรู้ต่อยอดอย่างต่อเนื่อง
๔.  มีคุณลักษณะของความเป็นผู้ประกอบการ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ทั้งในการเป็นผู้นำและผู้ตาม
๕.  สามารถใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลักษณะเฉพาะของหลักสูตร
Distinctive Features

1.เป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่เป็นหลักสูตรปริญญาตรีทางด้านสาขาวิชาศาสนศึกษา

2. หลักสูตรมุ่งเน้นการเรียนรู้วิชาศาสนศึกษาอย่างมีบูรณาการ ทำให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ 3.ได้ประสบการณ์การเรียนรู้จากอาจารย์ผู้สอนชาวต่างชาติ มากกว่าร้อยละ ๕๐ รวมถึงมีกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษมากกว่าร้อยละ ๕๐

 

ระบบการศึกษา ระบบทวิภาค คือ ๑ ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น ๒ ภาค หนึ่งภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า ๑๕ สัปดาห์ และอาจพิจารณาเปิดการศึกษาภาคฤดูร้อนเท่าที่จำเป็นโดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณะกรรมการประจำวิทยาลัยศาสนศึกษา
เส้นทางความก้าวหน้าของผู้สำเร็จการศึกษา
อาชีพสามารถประกอบได้

หลักสูตรมุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นคนรอบรู้ในด้านศาสนา คุณธรรม จริยธรรม มีทักษะการคิดวิพากษ์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะการติดต่อสื่อสารและทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นจึงสามารถประกอบอาชีพได้ตามความสนใจ และเมื่อได้รับการอบรมทางวิชาชีพ ก็สามารถประกอบอาชีพต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะทาง เช่น

1.นักปฏิบัติการ พนักงานในองค์กรต่างๆ

2.รับราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย

3.พนักงานองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานบริการและงานทรัพยากรบุคคล เช่น บริษัทการบิน บริษัทธุรกิจการค้าและมูลนิธิต่างๆ หรืออาชีพอิสระ นักเขียน นักธุรกิจ 4.นักวิชาการและเจ้าหน้าที่วิชาการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การศึกษา คุณธรรมจริยธรรม และวัฒนธรรม

การศึกษาต่อ ระดับบัณฑิตศึกษากลุ่มวิชามนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มวิชาบริหารธุรกิจ
ปรัชญาการศึกษาในการบริหารหลักสูตร
ปรัชญาการศึกษา หลักสูตรบริหารการเรียนการสอนโดยใช้หลักการจัดการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง (learning-centered) เน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ เชื่อว่าทุกคนเรียนได้ในศักยภาพที่ไม่เท่ากัน และแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน จึงจัดให้มีกระบวนการการเรียนรู้แบบผสมผสาน ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติเต็มตามศักยภาพที่ตนมี และส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) คือการเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนประเมินตนเอง ใคร่ครวญ เปิดใจ และค้นหาทักษะใหม่ที่สามารถทำให้ตนเองปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามมุมมองของตน ด้วยการให้ปฏิบัติงานจริงและเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาเพื่อมุ่งไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนด
กลยุทธ์ / แนวปฏิบัติ
ในการจัดการเรียนการสอน
หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ มีการเชื่อมโยงความรู้จากรายวิชา และสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเรียงรายวิชาจากระดับความง่ายหรือเป็นวิชาพื้นฐานไปสู่วิชาเฉพาะหรือวิชาที่ยากขึ้น

 

กลยุทธ์ / แนวปฏิบัติ
ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา

หลักสูตรใช้กลยุทธ์การประเมินผลการเรียนรู้แบบผสมสานตามสภาพจริง (authentic assessment) การสังเกตและการถามตอบเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนมีความพร้อม มีพัฒนาการในระหว่างเรียนแต่ละวิชา (formative assessment) และการทดสอบเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (summative assessment) เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนแต่ละรายวิชา
สมรรถนะที่เสริมสร้างให้นักศึกษาของหลักสูตร
Generic Competences

1.ปฏิบัติและดำรงตนอยู่ในคุณธรรมจริยธรรม โดยสามารถพิจารณาสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำตามหลักจริยศาสตร์เพื่อโต้ตอบในสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และสามารถพัฒนาตนเองทั้งด้านสุขภาพกายและใจ

2.มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ คิดสร้างสรรค์และแสวงหาความรู้ต่ออย่างต่อเนื่อง

3.มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ บูรณาการความรู้จากแหล่งต่างๆ ที่ได้รับเข้ากับประสบการณ์ชีวิตตนและสะท้อนออกมาเป็นมุมมองที่หลากหลายเพื่อสร้างประโยชน์และนวัตกรรมสู่สังคม 4.ทำงานกับผู้อื่นทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามได้ เปิดรับความแตกต่างทางความคิดและมีคุณลักษณะของความเป็นผู้ประกอบการ 5.มีทักษะในการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ 6.มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการหาความรู้ สื่อสาร และเพื่อการประกอบอาชีพ

Subject-specific Competences
Competences

1.อธิบายหลักการ แนวคิดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและนิกายอื่นๆ ในแง่มุมต่างๆ ได้

2.อธิบายหลักการ แนวคิดและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับศาสนาที่สำคัญของโลก อาทิ ฮินดู พุทธ ยูดาย คริสต์ อิสลาม ขงจื้อ เต๋า รวมถึงปรากฎการณ์ทางศาสนา ในแง่มุมต่างๆ ได้ 3.ประยุกต์ความรู้ความเข้าใจด้านพุทธศาสตร์ศึกษาหรือศาสนศึกษา และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องตามรายวิชาที่กำหนดในหลักสูตร ได้แก่ ปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้แก้ปัญหา หาแนวปฏิบัติ หรือสร้างนวัตกรรมทางมิติของศาสนาและมนุษย์ในโอกาสต่างๆ 4.วิเคราะห์หาความสัมพันธ์แนวคิดทฤษฎีทางศาสนากับปรากฏการณ์ต่างๆ ของมนุษย์ ได้อย่างเป็นระบบ

ผลลัพธ์การเรียนรู้ของบัณฑิต
เมื่อสิ้นสุดการเรียนรู้ในหลักสูตร ผู้สำเร็จการศึกษาจะสามารถ
PLO 1 เสนอความคิด แนวปฏิบัติ และจัดการกับประเด็นต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ เพื่อสร้างประโยชน์ในการดำรงชีวิตตนและการอยู่ร่วมกันในสังคม
PLO 2 จัดการสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดจากบุคคลที่ต่างวัฒนธรรม ค่านิยมและความคิด ด้วยทัศนคติเชิงบวกได้อย่างตรงวัตถุประสงค์
PLO 3 สื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับบุคคลกลุ่มต่างๆ อย่างตรงวัตถุประสงค์อย่างน้อยสองภาษาได้แก่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
PLO 4 สืบค้นความรู้ ข้อเท็จจริง และประเมินข้อมูลสารสนเทศเพื่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
PLO 5 แสดงศักยภาพในการประกอบอาชีพหรือการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงทักษะการจัดการและการพัฒนาความเป็นมนุษย์
PLO 6 ทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยแสดงออกถึงความเป็นผู้นำและผู้ตามได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์
PLO 7* อธิบายและอภิปรายทฤษฎีความรู้เกี่ยวกับวิชาเอกศาสนศึกษาตามหลักสูตรได้ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก
PLO 8** อธิบายและอภิปรายทฤษฎีความรู้เกี่ยวกับวิชาเอกพุทธศาสตร์ศึกษาตามหลักสูตรได้ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก

*ผลลัพธ์การเรียนรู้เฉพาะรายวิชาเอกศาสนศึกษา   **ผลลัพธ์การเรียนรู้เฉพาะรายวิชาเอกพุทธศาสตร์ศึกษา

การสมัครและการสอบคัดเลือก

เป็นไปตามประกาศการรับสมัครระบบ TCAS ของมหาวิทยาลัยมหิดล

• ดูรายละเอียดได้ที่ https://tcas.mahidol.ac.th/index.html
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : วิทยาลัยศาสนศึกษา ฝ่ายการศึกษา โทร. 099-4433678

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
๑. นักศึกษาไทย และนักศึกษาต่างประเทศที่สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี นักศึกษาที่รับเข้าศึกษาประกอบด้วยพระภิกษุ สามเณร แม่ชี นักบวชอื่นๆ และฆราวาส
๒. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ตามระเบียบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเกณฑ์คะแนนการสอบเข้าเป็นไปตามประกาศของวิทยาลัยศาสนศึกษา
๓. สำหรับพระภิกษุและสามเณร มีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใดดังนี้
๓.๑ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ
๓.๒ ศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่สอบได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๕ ประโยค
๔. เป็นผู้มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ
๕. ผู้สมัครที่มีคุณสมบัตินอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ข้างต้นให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการสอบคัดเลือกนักศึกษา หรือเป็นไปตามประกาศของวิทยาลัยศาสนศึกษา

สอบถามรายละเอียดทุนการศึกษา
- สำหรับนักศึกษา ติดต่อ 02-8002633
- สำหรับพระภิกษุ-สามเณร ติดต่อ 02-8002638