thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

มองเตสกิเออร์นักปรัชญาเสรีภาพแห่งฝรั่งเศส เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ

มองเตสกิเออร์นักปรัชญาเสรีภาพแห่งฝรั่งเศส

เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ

               มองเตสกิเออร์ นักปรัชญาสังคมและการเมืองชาวฝรั่งเศส มีชีวิตในช่วงปี ค.ศ. 1689 – 1755 ผลงานทางวิชาการอันโด่งดังคือหนังสือ “The Spirits of the Laws” ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1748 หนังสือนี้ได้กล่าวถึงอำนาจหลักสำคัญของรัฐไว้สาม คือ (1) อำนาจนิติบัญญัติ คืออำนาจในการตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้ และอำนาจในการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย (2) อำนาจบริหารของรัฐ คืออำนาจในการรักษาความสงบสุขหรือการทำสงคราม ส่งทูตไปประจำอยู่ต่างประเทศหรือยอมรับทูตจากต่างประเทศ รักษาความมั่นคงภายในและป้องกันการรุกรานจากภายนอก (3) อำนาจตุลาการ คืออำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี
               มงเตสกิเออร์ต่อสู้ทางความคิดสนับสนุนเสรีภาพของมนุษย์ เสรีภาพในทัศนะของท่าน คือ ความสามารถทำในสิ่งที่ต้องการและการไม่ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการและต้องใช้กฎหมายกำหนดว่า ประชาชนทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ เพื่อป้องกันคนในรัฐไม่ให้ใช้เสรีภาพไปทำลายเสรีภาพของคนอื่นๆ ปรัชญาทางการเมืองของมองเตสกิเออร์เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจทางการเมืองในสมัยนั้น ที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของประชาชน เพราะสังคมการเมืองทำให้มนุษย์ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายที่มนุษย์ด้วยกันสร้างทำให้เสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนอย่างมาก ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายที่ไม่เหมาะสมกับเจตจำนงของกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มองเตสกิเออร์ เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลที่ยึดถือหลักการแห่งเสรีภาพทางการเมืองเป็นหลักการสำคัญ โดยยึดมั่นในระบบถ่วงดุลอำนาจการเมืองการปกครอง 3 ฝ่ายคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
               หลักการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามนี้ เพื่อป้องกันมิให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งรวมอยู่ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียว และให้อำนาจแต่ละอำนาจนั้นหยุดยั้งหรือคานอีกอำนาจหนึ่งมิให้มีการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขต กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารทำหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกมา
               แนวคิดการแบ่งแยกอำนาจและถ่วงดุลอำนาจของมงเตสกิเออร์มีอิทธิพลต่อการวางพื้นฐานระบบการปกครองแบบประชาธิบไตยของประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น และปรัชญาของท่านก็มีอิทธิพลในปรัชญาฝ่ายเสรีนิยม เรื่องการต่อสู่เพื่อสิทธิความเท่าเทียม การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งการส่งเสริมเสรีในการนับถือศาสนา
               ตัวอย่างประเทศที่ใช้การปกครองแบบแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ทั้งสามแยกอำนาจเด็ดขาดจากกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ใช้ระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน สภาไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีได้ และประธานาธิบดีก็ไม่มีสิทธิที่จะยุบสภา
               แต่หากเป็นการแบ่งแยกอำนาจไม่เด็ดขาด เช่น ประเทศไทย ที่ใช้ระบบการปกครองแบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. หรือจากบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของรัฐสภา สภาจึงมีสิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็มีสิทธิยุบสภา