thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต): ตํานานลึกลับแห่งองค์หยกพระปฏิมา โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต): ตํานานลึกลับแห่งองค์หยกพระปฏิมา

โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

               ตามตำนานนั้นพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต (พระแก้ว) (The Emerald Buddha) ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 500 โดยพระนาคเสนเถระแห่งวัดอโศการามแห่งเมืองปาฏลีบุตร (เมืองปัฏนาหรือปัฏนะในปัจจุบัน) ที่อินเดีย ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ามิลินท์/ พระเจ้าเมนันเดอร์ ที่ 1 (Menander I Sote) ผู้อุปัฏภัมภ์พระพุทธศาสนาและทรงชอบสนทนาธรรมกับพระนาคเสนเถระ โดยสมเด็จพระอมรินทราธิราช (ท้าวสักกะเทวราชหรือพระอินทร์) พร้อมกับพระวิสสุกรรมเทพบุตร ได้นำแก้วสีเขียวเนื้อทึบเรียกว่าโลกาทิพยรัตตนายก (หยกอ่อน/ เนฟไฟรต์, Nephrite) นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิองค์นี้ และนำไปถวายให้พระนาคเสนเถระและท่านได้ถวายพระนามพระพุทธรูปว่าพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ต่อมาพระนาคเสนเถระบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าลงไปในพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตรวม 7 องค์ คือพระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ด้านซ้ายและขวา และพระเพลาด้านซ้ายและขวา เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้วจึงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานหลังจากนั้นเกิดแผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนเถระจึงพยากรณ์ว่าพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตจะเสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ในเบญจวิสัยหรือห้าอาณาจักรภายหน้าได้แก่ ลังกาวิสัย (ศรีลังกา) กัมโพชะศรีอโยธยาวิสัย (แคว้นเหนือสุดของชมพูทวีป) โยนกวิสัย (โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น/ แคว้นโยนก เป็นแคว้นแถวลุ่มน้ำโขงตอนกลาง) สุวรรณภูมิวิสัย (ดินแดนทางทิศตะวันออกของอินเดียคือพม่า ลาว ไทย กัมพูชา) และ ปะมะหละวิสัย (ที่มา: ธรรมานุศาสน์ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ) จากที่ตํานานกล่าวไว้นี้พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตได้เข้าสู่ประเทศไทยหรือสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยก่อนและได้ประดิษฐานอยู่ในหลายอาณาจักรด้วย
               นอกจากตำนานโบราณกว่าสองพันปีแล้วอย่างที่ทราบกันมาว่าพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตหรือพระแก้วมรกตได้เดินทางไกลมากจากอาณาจักรล้านนาสู่อาณาจักรล้านช้างและจากกรุงธนบุรีสู่กรุงเทพมหานคร โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีปรากฎชัดว่าพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปสมัยก่อนเชียงแสนหรือแบบศิลปะเชียงแสนอยู่ในสมัยล้านนาตอนต้น และพระแก้วมรกตองค์นี้มีเนื้อหินหยกที่ยาวต่อมาจากองค์พระลงไปในลักษณะเป็นเดือยขนาดใหญ่ ดังนั้นหินหยกอ่อนก้อนนี้ถูกนำมาแกะสลักเป็นพระแก้วมรกตเพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือเกินมาไม่ได้ตัดออกให้เรียบเสมอกัน และเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะเชียงแสนจึงสันนิษฐานได้ว่าอยู่ทางตอนเหนือของไทย ในรัชสมัยของพระเจ้ามหาพรหมผู้ครองเมืองเชียงรายนั้นพระแก้วมรกตถูกพอกทับด้วยปูนและลงรักปิดทองเหมือนพระพุทธรูปทั่วไปและซ่อนไว้ในพระเจดีย์ที่วัดป่าเยี้ยะ/ วัดป่าญะ (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว) ในจังหวัดเชียงรายและถูกค้นพบในกรุของพระเจดีย์เมื่อพ.ศ. 1977-79 เนื่องจากมีฟ้าผ่าลงที่องค์พระเจดีย์จนพังทลายลง (ตามพงศาวดารของล้านนา) จึงพบว่าด้านในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ เจ้าอาวาสวัดป่าเยี้ยะจึงอัญเชิญพระพุทธรูปออกมาประดิษฐานไว้ที่ศาลาวัดเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ ต่อมาปูนที่หุ้มองค์พระแตกร้าวและเกิดรอยกระเทาะบริเวณปลายพระนาสิกทำให้เห็นเนื้อหยกสีเขียวด้านใน เจ้าอาวาสจึงให้นำปูนทั้งหมดออก จึงเห็นเป็นพระพุทธรูปหยกสีเขียวทั้งองค์ (กว้าง 48.30 เซนติเมตร สูง 66 เซนติเมตร) และเรียกต่อมาว่าพระแก้วมรกตเนื่องจากมีสีเขียวเหมือนพลอยมรกต (เป็นเวลา 587 ปีแล้วจนถึงปัจจุบันที่เห็นหยกสีเขียวปรากฎ) ต่อมาพระแก้วมรกตก็ถูกนำไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้าที่จังหวัดลำปางเป็นเวลา 32 ปีโดยพระเจ้าสามฝั่งแกนผู้ครองเมืองเชียงใหม่เป็นผู้นำไป และในเวลาต่อมาพระเจ้าติโลกนารถผู้เป็นพระราชโอรสนำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่พระมหาเจดีย์ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2011 (อยู่ที่เชียงใหม่ 79-80 ปี) ต่อมาในปี พ.ศ. 2090 พระอุปภัยพุทธบวรไชยเชษฐาธิราช (สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช) ผู้เป็นผู้นำแห่งอาณาจักรล้านช้างหรือลาวในปัจจุบันและครองเชียงใหม่อยู่ราว 2 ปีเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ (ที่มา: สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ลำดับกษัตริย์ลาว, 2545) ขอยืมพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์กลับไปเมืองหลวงพระบางและคืนมาแค่พระพุทธสิหิงค์เพียงองค์เดียว ส่วนพระแก้วมรกตยังคงอยู่ที่หลวงพระบางและในปีพ.ศ. 2107 เมืองหลวงที่เป็นหลวงพระบางก็ถูกยกเลิกและเวียงจันทน์ (เวียงจันทน์ล้านช้าง) กลายเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่แทนและอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์นี้ด้วยที่หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ประเทศลาว ต่อมาจึงย้ายกลับมาที่แผ่นดินสยามเมื่อปีพ.ศ.2321 (อยู่ที่ลาวประมาณ 230 ปี) โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทน์และอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาสู่กรุงธนบุรี โดยประดิษฐานไว้ที่ วิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และทรงย้ายราชธานีและสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นในปีพ.ศ. 2325 และทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ที่เรียกกันติดปากว่าวัดพระแก้ว) ต่อมาทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ในปี พ.ศ. 2327 เพื่อให้เป็นพระประธานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของประเทศสยามในสมัยนั้นและประเทศไทยในสมัยปัจจุบัน และพระราชทานนามว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรซึ่งก็ยังคงประดิษฐานอยู่ที่นี่เป็นเวลากว่า 239 ปีแล้วจนถึงปัจจุบัน (ที่มา: วารสารวัฒนธรรม ฉ.1, 2562) จะเห็นได้ว่าพระแก้วมรกตได้เดินทางมายาวไกลผ่านกาลเวลาจากอาณาจักรทั้งน้อยและใหญ่ทั้งในประเทศและนอกประเทศไม่ว่าที่เป็นตำนานกล่าวไว้หรือตามที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ก็ตาม และการได้กราบไหว้พระแก้วมรกตถือเป็นมงคลอย่างหนึ่งในชีวิตที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำเมื่อมีโอกาส