thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

“รักอย่างไร….รักให้เป็น” โดย อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ

คำสอนที่ว่า  “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”  นั้น เราคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาจนชินหู  แต่ขณะเดียวกันกลับไม่มีใครเกรงกลัวพิษภัยของความรักกันสักเท่าใด   ทั้งบางคนยังกลับมองว่าความทุกข์นั่นแหละที่เป็นรสชาติของความรัก   อีกทั้งอิทธิพลของสื่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ  บทเพลง   ละคร  ภาพยนตร์   ที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความรักทั้งในแง่มุมที่สมหวัง ผิดหวัง  การกล่าวถึงความรักที่สร้างความสุข  ความทุกข์  สร้างกำลังใจที่ยิ่งใหญ่    จนความรักกลายเป็นสิ่งที่ใครๆต่างก็โหยหา  และเหมือนว่าขาดมันไปไม่ได้   โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ต่างโหยหาความรัก  ใครที่ไม่มีคู่รักกลายเป็นคนที่น่าสงสาร   ต้องทนทุกข์กับความเหงา  เป็นคนที่ไม่เต็มคน  จนดูเหมือนสิ่งที่เฝ้ารอคอยมาทั้งชีวิตก็มีเพียงแค่ความรักเท่านั้น

              ทว่าความรักไม่ได้ให้แต่ความสุข และเราทุกคนต่างก็รู้อยู่แก่ใจ   เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของโลก   เมื่อมีพบจึงต้องมีจาก  มีการพลัดพรากตามมา   ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ และความพลัดพรากนี่เองที่เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์ตามมา  ดังนั้นจึงอาจมีคนตั้งคำถามว่า ถ้าไม่อยากทุกข์  เราไม่ควรจะมีความรักใช่หรือไม่    หากจะถามเช่นนั้นก็คงต้องตั้งคำถามกลับว่า  เราทำได้หรือไม่ที่จะไม่มีความรัก  ซึ่งเชื่อว่าทุกท่านคงมีคำตอบในใจไว้อยู่แล้วว่าทำได้หรือไม่

              ทางแก้จึงไม่ใช่การหลีกหนี ละทิ้ง หรือปฏิเสธ  เพราะหากยังเป็นปุถุชนคงยากที่จะทำได้    ถ้าเช่นนั้น  แล้วควรจะทำอย่างไร  หลายคนอาจสงสัย    เราทุกคนไม่สามารถหลีกหนีทุกข์ได้ก็จริง   แต่มีสิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้  นั่นก็คือการเรียนรู้ป้องกันทุกข์   และเมื่อเกิดทุกข์ก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกข์ให้ได้

              ความจริงก็คือ พุทธศาสนานั้น  ไม่ได้สอนให้คนหนีโลก หนีทุกข์ แต่พุทธศาสนาสอนวิธีการที่จะอยู่กับทุกข์ จัดการทุกข์ และป้องกันทุกข์  ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร โดยในทีนี้ขอหยิบยกมาคุยแค่ถึงหลักธรรมเดียว  คือ เมตตา   ซึ่งเอ่ยหลักธรรมนี้ขึ้นมาเมื่อไร  ชาวพุทธทุกคนก็ต้องรู้จัก   แม้แต่คนที่ไม่สนใจพุทธศาสนาก็ต้องได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย  แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเมตตานี่แหละ   คือ หลักธรรมที่ป้องกันความทุกข์ที่เป็นเบื้องต้น และสำคัญมากที่สุดทีเดียว

               เมตตานั้น หมายความถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข    แน่นอนว่าหากเรารักใครแล้วเราย่อมปรารถนาให้เขาเป็นสุข    แต่หลายคนคงนึกแย้งในใจว่า ฉันก็อยากให้แฟนมีความสุขนะ  แต่ทำไมฉันยังทุกข์เพราะรักอยู่   ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องค้นหาคำตอบ และเริ่มกลับมาตั้งต้นที่ตัวเราเองเสียก่อนว่าเมตตาของเรานั้นถูกต้องหรือเปล่า

               เมตตาที่ถูกต้องนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยึดมั่นถือมั่น   ยกตัวอย่างเช่น  นางสาว  ก. เป็นแฟนกับนาย ข.  วันใดวันหนึ่งที่นาย ข. นอกใจไปมีผู้หญิงอื่น   นางสาว ก. ย่อมจะประสบทุกข์   แต่หากนางสาว ก. ไม่มีเมตตาที่แท้จริงต่อ นาย ข. แล้ว นางสาว ก. จะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เป็นทุกข์จนอาจแก้ปัญหาหรือดำเนินชีวิตแบบผิดๆ   หรือไม่ทนทุกข์อยู่กับความเจ็บแค้นที่ถูกทอดทิ้ง เหมือนคนที่ไม่อาจหลุดพ้นเชือกที่พันธนาการตัวเองไว้  แต่หากเพียงนางสาว ก. ลองตั้งสติทบทวนเสียใหม่ว่า ที่เอ่ยว่ารักจนแทบอยู่คนเดียวไม่ได้นั้น   มันจริงหรือเปล่า  ก่อนที่จะเจอเขานั้น  ทำไมเราอยู่มาได้ตั้งหลายปี    ที่จริงการไม่มีคนรักก็คือการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมก่อนที่เราจะมีเขาเท่านั้นเอง    และหากเรารักเขาจริง ทำไมเมื่อเขามีความสุข เราจึงไม่มีความสุขเล่า   นั่นก็เพราะเราอยากจะยึดเขาไว้กับตัวเรานั่นเอง แล้วทำไมเราจึงอยากยึดเขาไว้  ก็เพราะเราอยากให้ตัวเองมีความสุขต่างหาก  ไม่ใช่เพราะเราอยากให้เขามีความสุข  การที่ไปเจ็บแค้น คร่ำครวญ จากการถูกทิ้งก็คือ  เราไม่มีเมตตาต่อคนที่เราบอกว่ารักเลย  เราเห็นแก่ตัวต่างหาก  และที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ  ความเห็นแก่ตัวนั้นก็กลับมาทิ่มแทงตัวเองจนกลายเป็นความทุกข์อย่างแสนสาหัส   บางคนปล่อยใจให้ไหลไปกับกิเลสโดยขาดสติ จนทำเรื่องร้ายแรงต่างๆ  เป็นการก่อกรรมใหม่ที่จะทำให้เราต้องทุกข์ทรมานกับความรักไปไม่รู้อีกกี่ภพชาติอย่างไม่มีวันจบสิ้น

                ดังนั้น  การที่เราจะเมตตาจะต้องเคียงคู่ไปกับคำว่าปัญญาเสมอ  เพราะเมตตาก็คือ การรักเป็น เมื่อรักเป็นก็จะสามารถจัดการความทุกข์ที่เกิดจากความรักได้  โดยเมตตานั้นเราต้องเริ่มเมตตาที่ตัวเองก่อน   เราไม่อยากทุกข์  เราก็เมตตาตัวเองด้วยการหาเครื่องป้องกันหรือดับทุกข์เสียด้วยการศึกษาหาความรู้ทางธรรมที่จะช่วยดับทุกข์ในใจ   ขณะเดียวกันก็เมตตากับคนอื่นให้มาก แต่การเมตตาให้มากไม่ได้หมายถึงการยอมเพื่อคนอื่นทุกอย่าง แต่หากคือการมีปัญหาและสติในการติดต่อ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  โดยมองให้เห็นว่าเราทุกคนต่างเป็นเพื่อนที่ร่วมเกิดแก่เจ็บตายกันมานานจนหาต้นหาปลายไม่เจอ แล้วยังจะมาทำร้ายกันและกันอยู่ทำไม    

                ใครที่เสียคนรักไป  หากเป็นการจากเป็น ก็เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า “ให้อิสระและความสุขแก่เขาเป็นทาน” นี่คือการบำเพ็ญบารมีที่ยิ่งใหญ่ของเรา ใครที่เสียคนรักด้วยการจากตาย ก็ให้เปลี่ยนความคิดเสียว่า “เราควรมีชีวิตอยู่ให้ดีเพื่อสร้างบารมีอุทิศให้คนที่เรารักนั้นเป็นสุขในภพอื่น”    ส่วนใครที่ยังไม่เจอความพลัดพรากทั้งสองแบบก็ควรมาพิจารณาว่า รักของเราเป็นแบบไหน   และเริ่มฝึกฝนตนเองเพื่อเรียนรู้ที่จะรักแบบไม่ทำร้ายตัวเองตั้งแต่วันนี้  โดยหากใจเรามีเมตตาเป็นเครื่องป้องกันเสียแล้ว  พิษของรักก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้  เปรียบเหมือนยาพิษบนฝ่ามือ หากมือไม่มีแผล พิษก็เข้าสู่ร่างกายไม่ได้เช่นกัน  ดังนั้น การเมตตาต่อผู้อื่น แท้ที่จริงแล้วก็คือการเมตตาต่อตัวเองหรือการรักตัวเองให้เป็นนั่นเอง