thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

“ย้อนอดีตรุ่นบรรพบุรุษ กับเกร็ดความรู้เรื่องการปฏิบัติธรรม” โดย อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล

                      เราเคยตั้งคำถามไหมว่า แต่ละวัด มีการสอนเรื่องการปฏิบัติธรรมที่แตกต่างกันไป แล้วตามหลักฐานที่พบในอดีต วัดต่างๆ สอนสมาธิกันอย่างไร?

                      ตามหลักฐานเอกสารต่างๆ ในอดีตตั้งแต่ยุคสมัยอยุธยา วัดต่างๆ ที่สำคัญที่สอนเรื่องสมาธิ เช่น วัดประดู่ทรงธรรม วัดสำคัญเหล่านี้มักเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ พระอาจารย์ผู้สอนสมาธิมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม และมีความสำคัญต่อการเก็บรักษาเอกสารโบราณจำนวนมากที่มีองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การปฏิบัติสมาธิเพื่อรักษาโรค วิทยาศาสตร์ (เช่น การผสมธาตุ) ด้านสมุนไพร ด้านโหราศาสตร์ และอื่นๆ

                       ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เอกสารโบราณที่ยังคงมีการเก็บรักษาไว้ที่วัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร (วัดพลับ) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญในด้านต่างๆ เหล่านี้ วัดราชสิทธาราม เคยวัดสำคัญที่เป็นศูนย์กลางการสอนในเรื่องสมาธิ ในยุคสมัยที่สมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน ยังคงมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์

                        ท่านทราบหรือไม่ว่า ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา นักวิชาการต่างประเทศที่มีชื่อเสียงด้านพุทธศาสนา  เช่น ศาสตราจารย์ ดร. เคท ครอสบี ศาสตราจารย์ ดร. โอลิเวีย เดอร์บานอน ดร. แอนดรูว์ สกิลตันและอีกหลายท่าน ได้ให้ความสนใจกับองค์ความรู้เรื่องสมาธิที่มีการปฏิบัติกันในอดีต รวมถึงเอกสารโบราณที่เก็บรักษาในวัดต่าง ๆ เช่น เอกสารโบราณที่พบในวัดราชสิทธาราม ที่มีการบันทึกองค์ความรู้เรื่องการปฏิบัติสมาธิในสมัยก่อน ซึ่งมีรูปแบบการปฏิบัติที่มีเอกลักษณ์เป็นลักษณะเฉพาะ งานตีพิมพ์ในภาษาต่างประเทศมักจะอ้างถึงสมาธิที่พบในยุคสมัยก่อน โดยเรียกชื่อว่า การปฏิบัติกัมมัฏฐานแบบโบราณ (boran kammatthan) การตั้งชื่อดังกล่าวเป็นการตั้งชื่อตามหลักฐานที่พบในเอกสารโบราณในประเทศไทย กัมพูชาและลาว   ตามหลักฐานเชิงเอกสารต่างๆ พบว่า การปฏิบัติกัมมัฏฐานแบบโบราณมีหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่เคยได้รับความนิยม คือ การปฏิบัติในรูปแบบที่มีขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งรวบเอาเทคนิคต่างๆ ของสมถะทั้ง 40 เข้ามาด้วยกัน เช่น อานาปานสติ การนึกนิมิต การระลึกถึงพระพุทธคุณ และพรหมวิหารสี่ โดยผู้ปฏิบัติจะฝึกแต่ละเทคนิคอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และให้ความสำคัญกับทุกเทคนิค

                        ผู้สอนสมาธิในสมัยก่อนมีการบันทึกเทคนิคการสอน โดยใช้รูปภาพ ไดอะแกรม ตัวอักษรขอม และตัวเลข รวมถึงเทคนิคอื่นๆ ประกอบในการสอน อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สมาธิในรูปแบบนี้มีองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ เช่น การรักษาโรคด้วยการฝึกทางจิต การผสมธาตุ และอื่นๆ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้นักวิชาการที่มีชื่อเสียงในหลายประเทศให้ความสนใจในองค์ความรู้ต่างๆ

                      หมายเหตุ : สำหรับผู้อ่านที่สนใจ สามารถติดตามอ่านตอนต่อไป หรือติดตามอ่านซีรี่บทความวิจัยของ ดร. พิบูลย์ ชุมพลไพศาล ที่มีการตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถสืบค้นได้โดยการพิมพ์ชื่อ Phibul Choompolpaisal