thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ก้าวข้ามกำแพงศาสนาในโลกยุคใหม่ (ตอนที่ 1) โดย อ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ

ก้าวข้ามกำแพงศาสนาในโลกยุคใหม่ (ตอนที่ 1)

โดย อ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ

               เมื่อพูดถึงศาสนา แม้เราจะนึกถึงแง่งามในด้านต่างๆ ทั้งในของการเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรม รวมถึงเป็นแหล่งของหลักกฎเกณฑ์จริยธรรมต่างๆ แต่ในอีกด้าน เนื่องจากศาสนามีความเชื่อมโยงกับจิตใจของมนุษย์ ศาสนาจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การเมือง การสร้างอำนาจ การแสวงหาการยอมรับหรือแม้แต่การสร้างค่านิยมบางอย่างให้เกิดขึ้นในชุมชน สังคมหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบ และแน่นอนว่าการที่ศาสนาถูกมองเชื่อมโยงกับความดีงาม ความบริสุทธิ์ การลดละกิเลส การมีเมตตา เสรีภาพทางจิตใจ แต่ถูกนำมาใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งในระดับบุคคล สังคม ว่าก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับศาสนา ว่ายังจำเป็นอยู่หรือไม่
               การเกิดขึ้นของศาสนานั้นมีหลายแนวคิด แนวคิดที่พอทราบกันทั่วไป คือ ศาสนาเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา คือความกลัว ความกลัวเป็นสิ่งที่มนุษย์ตอบสนองออกมาจากความรู้สึก เป็นสัญชาตญาณติดตัวของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่เกิด เริ่มต้นจากการกลัวปรากฏการณ์ธรรมชาติ หวาดหวั่นต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิต นำไปสู่การจำนนต่อปรากฏการณ์เหล่านั้น และแสวงหาทางออกด้วยการกราบไหว้ เคารพบูชา เพื่อลดความกลัวต่อสิ่งที่ตนเองหาคำตอบไม่ได้
               ในอีกมุม ศาสนา ก็คือการสร้างภาพจำลองขึ้นในจิตใต้สำนึกของมนุษย์เพื่อชดเชยความกลัว ความอ่อนแอในใจ และชดเชยในสิ่งที่ตนขาดไป พร่องไป เช่น พลังอำนาจในการควบคุม ความเข้มแข็ง หรือความรักความห่วงใยที่อยากปกป้องคนที่ตนเองรักและเพื่อนมนุษย์
               แนวคิดอีกแนวที่น่าสนใจคือ แนวคิดของนักสังคมนิยมในกลุ่มมาร์กซิสต์ท่านหนึ่ง ที่มองว่า ศาสนาเกิดขึ้นอยู่บนหลักการที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถสร้างภาพลวงขึ้น และสามารถควบคุมความเป็นจริงได้ (ซึ่งจะเชื่อมโยงกับแนวคิด Homeopathic magic หรืออาถรรพวิทยา) แนวคิดนี้มองว่า แท้จริงแล้ว Homeopathic magic เป็นเทคนิคการลวงอย่างหนึ่งที่ใช้ในบงการความปรารถนาของตนแก่ธรรมชาติในยุคอดีต และเวทมนต์ ความลึกลับ ถูกพัฒนาจากความเชื่อพื้นบ้าน จนกลายเป็นศาสนาและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจ ของชนชั้นปกครองและใช้ปลอบโยนชนชั้นแรงงานที่ถูกกดขี่ ด้วยการอ้างถึงความสุขในอนาคตหลังความตาย
               แนวคิดสุดท้าย มองว่า มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ไม่สามารถรู้ถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ธรรมชาติ เนื่องจากขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จึงจินตนาการตามสัญชาตญาณของมนุษย์ ว่ามีผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจคอยบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปและนำมาสู่การยอมจำนนและมอบความภักดีให้ โดยความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นตามสามัญสำนึกและจินตนาการ และพัฒนากลายเป็นความเชื่อในอำนาจธรรมชาติและศาสนาในที่สุด
               จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าแนวคิดทั้งสี่แนวคิดนั้น มีความเชื่อมโยงและมีจุดร่วมบางอย่าง นั่นก็คือมองว่า ศาสนาเกิดขึ้นจากความไม่รู้และความหวาดกลัวซึ่งเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ และทำให้มนุษย์ยินยอมที่จะแสดงความอ่อนน้อมภักดีและอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อการปกปักรักษาตนเองจากอุปสรรคและมีพลังใจ ด้วยวิธการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพบูชา (Respect) การเซ่นสรวงสังเวย (Offering) หรือการบนบาน ซึ่งเป็นการกระทำที่มีสิ่งของแลกเปลี่ยนกับพรที่ตนเองขอ และสุดท้ายคือ การมอบตน หรืออุทิศตน (Sacrifice) เพื่อศาสนา
               แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเรารู้มากขึ้น เรารู้แล้วว่าไม่มีใครคือผู้มีพลังยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ นอกจากกฎธรรมชาติซึ่งมีระเบียบของมันเอง เราไม่จำเป็นต้องชดเชยความบกพร่องจากความไม่รู้ของเราอีกต่อไปเพราะมนุษย์เริ่มมีอำนาจที่จะควบคุมแม้แต่ธรรมชาติ เรารู้มีการแพทย์ที่ทันสมัยในการรักษาเยียวยา และมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เรารู้สิ่งต่างๆได้มากมาย และไม่ต้องการเวทมนต์ลึกลับเพื่อช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นอีกต่อไป กฎหมายเข้ามาแทนที่หลักจริยธรรม และทำให้ชนชั้นแรงงงานไม่ต้องรอความสุขในโลกหน้า และชนชั้นปกครองมาจากพลังอำนาจของการเลือกของคนกลุ่มใหญ่ โดยไม่ต้องอ้างอิงโองการจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป
               เมื่อความรู้ เข้ามาแทนที่ความไม่รู้ และลดภัยความกลัวที่เกิดจากสัญชาติญาณของใมนุษย์ รวมทั้ง วิทยาศาสตร์ที่เข้ามาให้คำตอบในหลายๆเรื่อง แล้วศาสนาที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้และความกลัวยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และเราจำเป็นต้องมีศาสนาหรือไม่
               มุมมองหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ศาสนายังมีความจำเป็นเพราะเป็นแหล่งกำเนิดของความดีงาม เหมือนกับที่หลายๆ คนได้ยินคำคุ้นเคยว่า ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ซึ่งคำตอบที่ถูกย้อนกลับมา อาจจะเป็นว่า แล้วทำไมไม่มีศาสนาจะเป็นคนดีไม่ได้ หากเราทำตามกฎหมาย แต่ไม่ทำตามหลักศาสนา เราจะยังเป็นคนดีไหม
 
ดูเหมือนว่า หากมองในแง่จุดเริ่มต้นของศาสนา ศาสนาก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
 
หากมองในแง่หลักเกณฑ์ด้านคุณงามความดี เราก็มีบริบทอื่นเข้ามาทดแทน หรือเป็นตัวเลือกให้แก่มนุษย์ เช่น กฎหมาย หลักจริยธรรมสากล หลักปรัชญา เป็นต้น จากมุมนี้ศาสนาก็ดูจะไม่ใช่ตัวเลือกเดียว
 
แล้วศาสนา จะมีอนาคตอย่างไร?
รอพบกับตอนที่ 2 ที่จะชวนทุกคนไปทบทวนเรื่องศาสนา ในบทบาทที่ทุกคนอาจจะหลงลืมไป และชวนหาคำตอบกับอนาคตของ “ศาสนา” ที่จะเกิดขึ้นใน “อนาคต”