thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

อธิษฐาน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง โดย อ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ

อธิษฐาน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

โดย อ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ

               หลายคนเมื่อตอนเป็นเด็กต่างก็มีความใฝ่ฝันอยากจะทำโน่นทำนี่ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ดี เนื่องจากคงไม่ใครตั้งใจจะเป็นคนเลว คนชั่วอย่างแน่นอน แต่ก็น่าแปลกที่พอโตขึ้น กลับปล่อยให้สิ่งที่ตัวเองฝันที่จะทำเมื่อตอนยังเด็กหายไป และกลับไปทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบเมื่อสมัยเป็นเด็กแทน เช่น หลายคนตั้งใจว่าโตขึ้นจะไม่ดื่มเหล้า แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็กลับเป็นนักดื่มตัวยง บางคนยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวด้วยซ้ำ แค่ย่างเข้าวัยรุ่น ก็ดื่มเหล้าเสียแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าทำไมเมื่อโตขึ้น เรากลับไม่สามารถทำสิ่งที่เราตั้งใจจะทำได้ หรือรู้ทั้งรู้ว่าการกระทำบางอย่างเป็นสิ่งไม่ดี แต่เราก็ยังทำ
               การที่เราไม่สามารถทำในสิ่งที่เราตั้งใจไว้ได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝันตั้งแต่ยังเด็ก หรือ การตั้งใจทำความดีอื่นใดก็ตาม นั่นเป็นเพราะคนเราส่วนใหญ่มีใจที่ไม่เข้มแข็งในอุดมการณ์ ไม่มีความตั้งใจมั่น หรือพูดง่ายๆก็คือ ขาดการการอธิษฐานนั่นเอง
               ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะทำหน้าสงสัยว่าการ “อธิษฐาน” มาเกี่ยวอะไรกับการทำสิ่งที่เราตั้งใจไว้ให้เป็นจริง ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจคำว่าอธิษฐานเสียก่อน จริงๆแล้วการอธิษฐานหมายถึง การตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ความมั่นคงเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในจุดมุ่งหมายของตนเอง ต่างกับความหมายของคนทั่วไปที่มักจะเข้าใจว่า อธิษฐาน หมายถึง การตั้งจิตปรารถนาเพื่อขอ การมุ่งผลอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไหว้พระขอให้ช่วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้สำเร็จดังใจ เป็นต้น
               แท้ที่จริงแล้ว “อธิษฐาน“ในทางพุทธศาสนา ไม่ใช่การร้องขอ ไม่ใช่การตั้งจิตปรารถนาเรื่องนั้นเรื่องนี้โดยอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาดลบันดาล แต่หมายถึง การตั้งไว้ในใจ กำหนดในใจ การตั้งใจมั่นในการทำสิ่งตนเองตั้งใจ เช่น บางคนตั้งใจจะทำงานเป็นนักการเมืองและมุ่งมั่นเป็นนักการเมืองที่ดีพอเล่นการเมืองได้เป็น ส.ส. ก็ตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ แม้จะมีคนเอาเงินมาให้จำนวนมากเพื่อแลกกับการเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริตก็ไม่รับ ไม่โอนอ่อนไปตามกระแสของสิ่งแวดล้อมที่ชักชวนให้เราทำเรื่องเสียหาย หากทำเช่นนี้ได้ก็ถือว่าผู้นั้นได้บำเพ็ญอธิษฐานบารมีเช่นกัน
               การ “อธิษฐาน” นี้ หลายคนมองข้ามเพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทั้งๆที่ การ อธิษฐาน เป็นหนึ่งในบารมีสิบที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ และการที่พระองค์ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้ก็เนื่องมาจากการอธิษฐานเป็นปัจจัยประกอบ การอธิษฐาน จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม แต่เป็นสิ่งที่เราควรเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตของเราต่างหาก
               แล้วจะนำ “อธิษฐาน” มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร หลายคนตั้งคำถามต่อ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่า เวลาเรานึกถึงอะไรบ่อยๆ สิ่งนั้นมักจะเป็นจริง ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจาก เราได้ทำการอธิษฐานโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าการอธิษฐานหมายถึง การตั้งใจมั่น การตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว การที่เรานึกถึงสิ่งใดบ่อยๆ ก็ทำให้จิตเกิดความตั้งมั่นในสิ่งนั้น เมื่อเกิดความตั้งมั่นก็เกิดสมาธิ ทำให้มีพลังที่จะส่งที่คิดเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะความคิดย่อมผลักดันให้เกิดการพูดและการกระทำที่จะนำเราไปยังทางที่เราตั้งใจไว้ และหากลองจินตนาการว่า การที่เรานึกคิดโดยไม่ตั้งใจให้มันเกิด อาศัยเพียงแค่คิดบ่อยๆยังมีพลังมากมาย หากเราตั้งใจจริง อธิษฐาน ด้วยความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นจะประสบผลสำเร็จเพียงใด
               อย่างไรก็ตาม ก็ควรตระหนักว่า การ อธิษฐาน ให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่ว่าจะอาศัยการคิดนึก หรือตั้งใจเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญคือเราจะต้องทำเหตุให้ตรงกับการสิ่งที่เราอธิษฐานด้วย เช่น หากเราอธิษฐานว่าเราจะต้องประสบความสำเร็จในอาชีพการงานของเรา แต่เรากลับนอนอยู่กับบ้านเฉยๆ ไม่แสวงหาทางให้เป็นได้ตามที่เราอธิษฐาน คำอธิษฐานนั้นก็คงไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า การอธิษฐาน ไม่ใช่การขอให้ใครช่วย ไม่มีใครทำให้เราสำเร็จตามที่เราอธิษฐานได้ มีคนเพียงคนเดียวที่จะบันดาลให้คำอธิษฐานของเราเป็นจริงได้ นั่นก็คือ ตัวเราเองเท่านั้น ความตั้งใจที่มุ่งมั่น ไม่หวั่นไหวกับสิ่งรอบข้างที่มากระทบและชวนให้ท้อแท้ และความพยายามของเราที่เกิดจากการอธิษฐานเท่านั้นที่จะทำให้เราสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้
               ดังนั้นการอธิษฐานที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปเพื่อสร้างความแน่วแน่และส่งเสริมให้จิตของตนแนบแน่นในเป้าหมายของตัวเอง และควรมีปัญญากำกับด้วยเสมอจึงจะทำให้คำอธิษฐานนั้นประสบผลสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจ