thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ศาสนาคืออะไร? ตอนที่ 2 โดย อาจารย์พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช

ศาสนาคืออะไร? ตอนที่ 2

โดย อาจารย์พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช

               ในบทความที่แล้ว เราคุยกันไปส่วนหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทของศาสนาในฐานะสิ่งที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตตามคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประเด็นคราวที่แล้วอาจจะไม่ครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับนิยามทางศาสนา
               อีกแง่มุมหนึ่งที่ผมอยากให้ผู้อ่านทุกคนลองคิดต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้คือมโนทัศน์เรื่อง “อุดมคติ” ซึ่งผมขอเริ่มอธิบายแบบนี้ครับว่าศาสนามีส่วนสำคัญที่ทำให้ให้เราเดินตามอุดมคติของอะไรบางอย่าง และด้วยกระบวนการเดินตามอุดมคติดังกล่าวนี้เองที่ผมคิดว่านำพาให้เราพัฒนาตัวเองในด้านที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น หากเราตั้งอุดมคติเอาไว้ในใจว่า คนที่ดีคือคนที่ไม่โกหกไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม ในแง่นี้ อุดมคติที่เรายึดไว้ในใจย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เราเป็นคนที่ซื้อสัตย์มากขึ้น ในทางตรงข้าม หากเราย่อหหย่อนกับการกระทำของตัวเอง หรือเลือกที่จะไม่เดินตามอุดมคติบางอย่าง เช่น เราอาจบอกตัวเองว่า เราสามารถที่จะโกหกได้ในสถานการณ์ที่จำเป็น ในแง่นี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำให้เราโกหกมากขึ้นเรื่อยๆ แทน จนสุดท้าย เราจะค่อยๆ กลายเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อเรื่องต่างๆ เท่าที่ควร
               น่าสนใจว่าประเด็นนี้ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่กุขึ้นมาลอยๆ แต่อย่างใด เพราะอิทธิพลของศาสนาในลักษณะนี้สอดคล้องกับงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ในปี 2019 ว่าประชากรกว่า 45 เปอร์เซ็นต์จาก 34 ประเทศทั่วโลกเห็นว่า ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้านั้นจำเป็นต่อการทำความดี หรือการ “เลือก” ที่จะเป็นคนดีในสถานการณ์ต่างๆ จากตรงนี้ นักสังคมศาสตร์ตั้งคำถามเจาะลงไปอีกว่า ศาสนามีอิทธิต่ออุปนิสัยใจคอของเรา ทำให้ใครบางคนเลือกที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนดี หรือมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกกันแน่ คำถามนี้พาเราไปหางานวิจัยอีกชิ้นที่ชื่อว่า “Good Samaritan Study” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าศาสนาไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรงต่อใครบางคนมากพอที่จะทำให้เขาหรือเธอเลือกที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนดี แต่ในทางหนึ่ง ดูเหมือนว่าพิธีกรรมและองค์ประกอบบางอย่างของศาสนาจะเป็นส่วนที่คอยเตือนใจและทำให้ผู้คนสะดวกใจที่จะทำความดีกันมากขึ้น ในงานวิจัยดังกล่าว นักวิจัยเปรียบเทียบพฤติกรรมการช่วยเหลือคนแปลกหน้าของผู้นับถือศาสนาและไม่มีศาสนา ตอนเริ่มแรกนักวิจัยสัมภาษณ์คนทั้งสองกลุ่ม พวกเขาพบว่าทั้งคนที่มีศาสนาและไม่มีศาสนาต่างยินดีที่จะช่วยคนแปลกหน้าบนท้องถนน นักวิจัยเริ่มสังเกตการณ์จากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงแล้วก็พบว่าเป็นไปตามนั้น คนทั้งสองกลุ่มต่างมีความต้องการช่วยคนแปลกหน้าที่กำลังเดือดร้อนพอๆ กัน สิ่งที่น่าสังเกตจากงานชิ้นนี้ก็คือ การนับถือหรือไม่ได้นับถือศาสนาไม่ได้มีผล หรือส่งผลทำให้ผู้คนมีความต้องการช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น
               ขณะที่งานอีกชิ้นของไซกาลาทัส อาจารย์สขามานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอนเนคทิคัทพบว่าผู้คนมักมีแนวโน้มที่จะใจกว้างมากขึ้น และบริจาคทรัพย์สินของตัวเองอย่างเต็มใจมากขึ้นเมื่ออยู่ท่ามกลางพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พิธีบวงสรวงหรือพิธีบูชารูปเคารพ ในแง่นี้ การย้ำเตือนทางศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อการให้ความสำคัญต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตของเราอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ในรายละเอียดเชิงลึกก็ยังคงเป็นที่ศึกษาและถกเถียงกันต่อไป เราจะมาขยายประเด็นนี้ต่อในโอกาสหน้าครับ