thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

แนะแนว แนะใจ ทำอย่างไร…เมื่อทุกอย่างไม่เป็นดั่งใจ”

แนะแนว แนะใจ ทำอย่างไร...เมื่อทุกอย่างไม่เป็นดั่งใจ"

วันที่ 17 กันยายน 2565 เวลา 13.00-15.00 น. วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมคุณครูแนะแนว เรื่อง “แนะแนว แนะใจ ทำอย่างไร…เมื่อทุกอย่างไม่เป็นดั่งใจ” เพื่อพูดคุยให้ความรู้ ทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยในด้านสภาวะทางอารมณ์ และความสามารถในการรับมือกับความผิดหวัง โดยเด็กสมัยใหม่จะเน้นการมีตัวตนในพื้นที่ต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับความคิดเห็นจากคนรอบข้าง อาทิ เพื่อน หรือคนใกล้ตัว มากกว่าจะให้ความสำคัญกับความเป็นจริงตรงหน้า จึงทำให้เด็กรับมือกับความผิดหวังต่างๆ เองได้น้อยลง ดังนั้นคุณครูจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเด็กโดยต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กก่อน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการช่วยเด็กต่อไป อาทิ การสร้างเกราะป้องกันทางใจ การยอมรับในตัวเด็ก รวมไปการแนะนำถึงการแยกข้อเท็จจริงจากความคิดเห็นที่บิดเบือน และการชื่นชมเด็ก ด้วยการไม่เทียบกับคนอื่น แต่เทียบกับเรื่องครั้งก่อน

ประกอบกับในด้านศาสนาที่สอนให้เห็นคุณค่าของการเป็นมนุษย์และใช้หลักความรักความเมตตา โดยปลูกฝังให้เด็กรักตัวเองก่อน และหากคุณครูมีสภาพทางอารมณ์ที่มั่นคงโดยฝึกฝนการมีสติและมองอารมณ์ต่างๆตามความเป็นจริง เด็กก็จะมีสภาพทางอารมณ์ที่มั่นคงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ต้องฝึกฝนให้เด็กคิดวิเคราะห์ และเผชิญปัญหาด้วยตนเอง เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน หากผิดหวังก็ล้มแล้วลุกได้ ซึ่งคุณครูจะต้องใช้หลักเมตตาต่อเด็กให้มาก เพราะเด็กบางคนต้องการการยอมรับและต้องการให้มองเห็นคุณค่าในตัวตนเขา หากมีคนเห็นและยอมรับ เด็กก็จะมีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อเด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง ก็จะมีกำลังใจและสามารถเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาได้ เมื่อทุกอย่างไม่เป็นดั่งใจต่อไปในอนาคต

สำหรับการอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิก จาก สถาบันสุขภาพจิตเด็กเเละวัยรุ่นราชนครินทร์ และ อ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ รองคณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา เป็นวิทยากรให้ความรู้

ในการอบรบครั้งนี้ผู้เข้าอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรออนไลน์ ทั้งนี้มีผู้เข้าอบรมผ่านระบบออนไลน์ Cisco Webex ทั้งสิ้น 45 คนสำหรับการบรรยายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนรับทราบและเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) ข้อ 11 (ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ข้อ16 (ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ต่อผู้เข้าร่วมอบรมต่อไป.