thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

นะ ชา ลี ติ – คาถามหาลาภ มนตราแห่งความหวัง โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล

นะ ชา ลี ติ – คาถามหาลาภ มนตราแห่งความหวัง โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล

ในยามที่ยากลำบาก อัตคัดขัดสน ต้องดิ้นรนต่อสู้ ทุกคนต่างต้องการตัวช่วยที่จะมาช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก ไม่ว่าจะเป็นโชคลาภหรือเงินทอง เพื่อช่วยคลายให้ความทุกข์เบาบางลง ดังนั้นคาถาที่ผู้คนนิยมท่องสวดจึงบ่งบอกถึงความศรัทธา ความเชื่อตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของผู้คนในสังคมด้วย ซึ่งคาถามหาลาภ “นะ ชา ลี ติ” หรือ คาถาหัวใจพระฉิมพลี / หัวใจพระสีวลี ถือเป็นคาถายอดนิยมที่มักนำไปใช้ในการเสริมเรื่องโชคลาภ ร่ำรวย เมตตามหานิยม มาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ในบทความนี้เรามาเรียนรู้ถึงที่มาของคาถาบทนี้ไปด้วยกัน

พระสีวลี เอตทัคคะหรือผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้มีลาภมาก โดยในอดีตชาติของท่านในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ท่านเกิดเป็นชายชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรเป็นผู้ที่ไม่ยอมขายน้ำผึ้งแม้มีคนขอซื้อด้วยราคาพันกหาปณะแต่กลับถวายน้ำผึ้งทั้งรวงแก่คณะสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายรวงผึ้งและความปรารถนาจะเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศในครั้งนั้น ในที่สุดท่านจึงได้เป็นเอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก โดยลาภสักการะเหล่านี้ได้เผื่อแผ่ไปยังพระสงฆ์สาวกอื่น ๆ ด้วย แม้พระบรมศาสดาเมื่อทรงพาหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จทางไกลกันดาร ถ้ามีพระสีวลีร่วมเดินทางไปด้วย ความขาดแคลนอาหารและที่พักอาศัยในระหว่างทางก็จะไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ภิกษุสงฆ์เลย โดยในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน พุทธวังสะ จริยาปิฎก สีวลีเถราปทาน ได้กล่าวถึงอานุภาพแห่งพระสีวลีไว้ว่า

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูปไปเยี่ยมพระเรวตะผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ ป่าไม้ตะเคียน เมื่อเสด็จมาถึงทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์เถระได้กราบทูลสภาพหนทางว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสด็จไปทางอ้อม ระยะทางไกล ๖๐ โยชน์  (960 กิโลเมตร) มีประชาชนอยู่อาศัยมาก พระภิกษุไม่ลำบากด้วยภิกขาจาร แต่ถ้าเสด็จไปทางลัดระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ (480 กิโลเมตร) ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย มีสภาพเป็นป่าใหญ่ มีแต่อมนุษย์อยู่อาศัย พระภิกษุสงฆ์จะลำบากด้วยภิกขาจาร” พระพุทธองค์ ตรัสถามว่า “ดูก่อนอานนท์ พระสีวลีมากับเราด้วยหรือไม่ พระอานนท์ตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสีวลีมากับเราด้วย พระเจ้าข้า” พระพุทธองค์ ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้นก็จงไปทางลัด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลด้วยอาหารบิณฑบาต เพราะเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ในป่าระหว่างทาง จะจัดสถานที่พักและอาหาร บิณฑบาตไว้ถวายพระสีวลีผู้เป็นที่เคารพนับถือของพวกตน เราทั้งหลายก็จะได้อาศัยบุญของพระสีวลีนั้นด้วย” ด้วยอำนาจบุญที่ท่านพระสีวลีได้บำเพ็ญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติเป็นปัจจัยส่งผลให้ท่านเจริญด้วยลาภสักการะ โดยมีเทพยาดา นาค ครุฑ และมนุษย์ทั้งหลาย นำมาภัตตาหารและสิ่งของจำเป็นมาถวายโดยมิขาดตกบกพร่องไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ๆ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงทรงประกาศให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัทตรัสยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ ผู้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้มีลาภมาก

หมู่ชนในภายหลังจึงได้แต่งบทสวดบูชาพระสีวลีเป็นอันมากในหลากหลายรูปแบบเรียกกันว่าคาถาหัวใจพระฉิมพลี หรือคาถาหัวใจพระสีวลี โดยมักจะอยู่ในบทย่อ “นะ ชา ลี ติ”  ดังนั้น ตัวอักขระ “นะ ชา ลี ติ” จึงมักถูกใช้เขียนบนวัตถุมงคล ยันต์ ของขลัง เครื่องบูชาต่าง ๆ  โดยเชื่อกันว่ามีอานุภาพบันดาลให้หมดทุกข์หมดโศก มีทรัพย์มั่งคั่ง มีลาภ อยู่ดีมีสุข เป็นที่รักของมหาชน ด้วยอ้างถึงอานุภาพแห่งพระสีวลี ผู้เปี่ยมไปด้วยลาภสักการะอันมิขาดตกบกพร่องนั่นเอง