thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

อุดมการณ์ของรัฐไทยกับการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือปลูกฝังพลเมืองผ่านระบบการศึกษา โดย อาจารย์ ดร.กฤต พิริยธัชกุล

อุดมการณ์ของรัฐไทยกับการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือปลูกฝังพลเมืองผ่านระบบการศึกษา

ประเด็นที่หนึ่ง จากวาทกรรมเนื้อเพลง “หน้าที่ของเด็ก” ที่กล่าวว่า “…เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน หนึ่ง นับถือศาสนา…” ที่แต่งโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ในปี พ.ศ. 2498 นั้น ยังมีอิทธิพลมาถึงทุกวันนี้ จากการที่หลาย ๆ หน่วยงาน และโรงเรียนยังมีการผลิตซ้ำวาทกรรมนี้อยู่ โดยเฉพาะในวันเด็กของทุก ๆ ปี นั่นแสดงให้เห็นว่า “ศาสนา” นอกจากเข้ามามีบทบาทในระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการครอบงำ ปลูกฝังและกล่อมเกลาความคิด (Indoctrination) ให้เยาวชนนับถือศาสนาอีกด้วย

ประเด็นที่สอง ในระบบการศึกษานั้น รัฐใช้แนวคิดการครองอำนาจนำ (Hegemony) เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐสมัยใหม่ (Modern State) รัฐจึงจำเป็นต้องสร้างอุดมการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดสู่พลเมืองของตนเองผ่านระบบการศึกษาเพื่อให้เกิดผลผลิตในด้านการสร้างค่านิยม ความเชื่อและความคิดของเยาวชน ให้เกิดสำนึกคิดร่วมของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการสร้างกรอบความนึกคิด (Ideology) ความเป็นชาติไทยและความเป็นคนไทย

แน่นอนว่าปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขและความสำเร็จของกลไกรัฐที่จะสามารถก่อให้เกิดการครองอำนาจนําและการสร้างกรอบความนึกคิดได้นั้น รัฐจะต้องสามารถครอบงำอุดมการณ์ของประชาชนได้เสียก่อน ทั้งอุดมการณ์ทางการเมืองและอุดมการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม รัฐไทยจึงสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองโดยการนำเอาบริบทพุทธศาสนาที่รัฐอ้างว่าเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือมาผูกโยงการถ่ายทอดแนวคิดของรัฐสู่ประชาชนผ่าน “ระบบการศึกษา” ทั้งในทาง “พฤตินัย” และ “นิตินัย” นั่นเอง

อย่างไรก็ตามหากมองความเป็นรัฐ รัฐต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐเป็นหลักอยู่แล้ว วิธีคิดของรัฐต่อระบบการศึกษา จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้าง “พลเมืองที่ดี” มากกว่า “ปัจเจกชนที่ดี” เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อรัฐในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ในมิติของแบบเรียนศาสนาของไทย รัฐยังได้ผูกขาดการออกแบบเนื้อหาและการใช้แบบเรียนมาโดยตลอดผ่านหน่วยงานภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐ ถึงแม้ว่าจะมีการพยายามสร้างภาพลักษณ์ในการอนุญาตให้เอกชนสามารถผลิตแบบเรียนและออกแบบเนื้อหาเองได้ แต่นั่นอาจเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ เพราะสุดท้ายรัฐก็ยังคงรักษาอำนาจในการตรวจสอบ กำหนดกรอบการเรียนรู้และตัวชี้วัด รวมถึงใช้อำนาจในการเป็นผู้อนุญาตให้ใช้แบบเรียนอย่างเข้มงวด ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยนั้นใช้ระบบการศึกษามาเป็นเครื่องมือและพยายามครองอำนาจนําเหนือระบบการศึกษา

ดังนั้น “การศึกษา” จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐสมัยใหม่ในการสร้างชุดอุดมการณ์ ทั้งในเรื่องของโลกทัศน์ทางการเมือง ศาสนา ความเชื่อและค่านิยมต่อเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองโลกของรัฐที่มีคุณภาพและมีความสำคัญต่อรัฐในการพัฒนาประเทศ โดยทำให้รัฐเข้ามามีบทบาทและกําหนดอนาคตของชาติ ว่าต้องสอนวิชาอะไร โดยเฉพาะประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างวิชาศาสนาและประวัติศาสตร์ รัฐจะกำหนดว่าต้องการให้เยาวชนมีความรู้ในเรื่องไหนบ้าง หรือแม้กระทั่งการไม่ต้องการให้เยาวชนได้รู้ในเรื่องอะไรบ้าง ไปจนถึงการตัดสินใจกําหนดแนวทางว่าเยาวชนควรจะได้รับการถ่ายทอดอุปนิสัยใจคออย่างไร เป็นต้น