thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ลิลิตโองการแช่งน้ำ: การบูรณาการอำนาจภายนอก “ศาสนาไทย ผี – พราหมณ์ – พุทธ” ในระบบการเมืองการปกครองของอยุธยา โดย อาจารย์ ดร.กฤต พิริยธัชกุล

ลิลิตโองการแช่งน้ำ: การบูรณาการอำนาจภายนอก “ศาสนาไทย ผี - พราหมณ์ - พุทธ” ในระบบการเมืองการปกครองของอยุธยา โดย อาจารย์ ดร.กฤต พิริยธัชกุล

“ลิลิตโองการแช่งน้ำ” เป็นวรรณคดีไทยที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงศรีอยุธยาตอนต้นที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์ วรรณคดีเรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดทัศนะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น (1) ด้านการประพันธ์ ที่มีฉันทลักษณ์ของวรรณคดีที่ใช้สำนวนโวหารเป็นทั้งคำศัพท์เขมร บาลี สันสกฤตและไทยโบราณ (2) ด้านความเชื่อ
ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการทางพิธีกรรม และ(3) ด้านอำนาจ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพระบบการเมืองระหว่างพระมหากษัตริย์กับข้าราชบริพารในยุคจารีตประเพณีผ่านระบบความคิดที่อยู่เบื้องหลังการแต่ง
 
หากวิเคราะห์โดยภาพรวมพบว่า ลิลิตโองการแช่งน้ำเป็นคำสัตย์สาบานที่ใช้ผูกมัดข้าราชบริพารให้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ซึ่งเป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินไทยสืบมาแต่โบราณ โดยโองการแช่งน้ำจะเป็นบทสวดที่ใช้ในพระราชพิธีดังกล่าว ดังกรณีตัวอย่าง ในพิธีสาปแช่งน้ำสาบาน จากหนังสือเรื่อง “โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (2547: 434) ได้กล่าวว่า พราหมณ์จะมีการใช้พระแสงศร “แทงลงไปในหม้อน้ำสาบานเพื่อให้น้ำนั้นศักดิ์สิทธิ์ มีพิษบาดไส้บาดคอผู้ที่คิดทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน” คือพราหมณ์จะนำคมศาสตราวุธต่าง ๆ มาทำพิธีสวดหรืออ่านโองการแช่งน้ำแล้วแทงศาสตราวุธลงไปในน้ำที่จะให้ดื่ม รวมถึงหนังสือเรื่อง “โองการแช่งน้ำ” ของ ไมเคิล ไรท์ (2543: 41) ที่ได้แปลความในเจตนารมณ์โองการแช่งน้ำไปในทำนองเดียวกันกล่าวคือ “ทุกคนที่เข้าพิธี ต้องดื่มน้ำที่ถูกพราหมณ์สาปแช่ง โดยเชื่อว่าใครทำผิดคำสาบาน ทรยศคิดมิชอบ ก็จะมีอันเป็นไปตามคำสาปนั้นเอง” เช่นเดียวกับหนังสือเรื่อง “อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ” ของ ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต (2553: 22) ที่ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของโองการแช่งน้ำว่า “…อธิษฐานน้ำพระพัทธ ขอให้มีฤทธิ์มีอิทธิพลบันดาลให้เป็นไปตามคำสาบาน แช่งผู้คิดคดทรยศและให้พรผู้ตั้งมั่นอยู่ในความกตัญญูและสุจริต”
 
นอกจากนี้ สมเกียรติ วันทะนะ (2561: 24 – 29) ยังได้สังเคราะห์ตัวบทลิลิตโองการแช่งน้ำ พบว่าเนื้อหาสาระทั้งหมดของโองการแช่งน้ำคือ “การอัญเชิญเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนภูตผีปีศาจหรืออมนุษย์ที่มีฤทธิ์มีอำนาจมีความน่าสะพรึงกลัวเข้าสิงสถิตย์ในน้ำสาบาน เพื่อทำให้น้ำสาบานมีฤทธิ์มีอำนาจบันดาลให้ผู้ดื่มน้ำมีอันเป็นไปตามคำสาบาน” โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดที่พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีได้อัญเชิญลงสิงสถิตย์ในน้ำสาบานนั้น มีจำนวนมากถึง 52 รายการ ไม่ว่าจะเป็น พระวิษณุหรือพระนารายณ์ พระอิศวรหรือพระศิวะ มารเฟียตไท้ทศพล (พระพุทธเจ้า) สี่ปวงผีหาวแห่ง (ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ทิศของพุทธศาสนาคือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์และท้าวกุเวร) รวมถึงผีกลางหาวหารแอ่น (อากาศเทวดาที่เหาะไปอย่างรวดเร็ว) หรือยมราช (พญายมราช ผู้มีสายตาคมประดุจดาบ) และสัตว์ร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น จระเข้งับเสือฟัด หรืองูเงี้ยวพิษทั้งหลาย เป็นต้น
 
ซึ่งเมื่อวิเคราะห์และจำแนกอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว สามารถจำแนกอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ (1) “อำนาจผี” มีมากที่สุด โดยมีรากฐานมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นธรรมชาติของชุมชนและท้องถิ่นดั้งเดิม สิ่งที่มีอำนาจในหมวดนี้จึงเป็นสัตว์ร้าย เช่น งูใหญ่ (เงือก) นกใหญ่ (รุ้ง) เสือ จระเข้ ช้าง รวมไปถึงผู้ที่สามารถจับหรือบังคับช้างได้ (พระกรรมบดีปู่เจ้า) และอำนาจเหนือธรรมชาติที่มนุษย์เชื่อว่าสิงสถิตย์อยู่เป็นเจ้าที่ (ภูมิเทเวศ) เจ้าท่า (ผีพราย) เจ้าป่า (ผีดงผีหมื่นถ้ำล้ำหมื่นผา) เจ้าเขา และสิ่งไม่มีชีวิต เช่น หอก ดาบ หรือแม้แต่จอบ ก็ถูกอำนาจของผีเข้าสิงเพื่อเอาชีวิตผู้ทรยศได้ (2) รองลงมาคือ “อำนาจพราหมณ์” อันได้แก่ เหล่ามหาเทพทั้งหลาย ลงมาจนถึงเทพเจ้าที่เป็นตัวแทนของพลังธรรมชาติ โดยพบว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากศาสนาพราหมณ์ อาจเป็นการครอบทับผีอันเกิดจากปรากฎการณ์ธรรมชาติด้วยภาษาสันสกฤต และ(3) “อำนาจพุทธ” โดยอำนาจในหมวดนี้จะกล่าวถึง พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ในมิติด้าน “พระคุณ” มากกว่า “พระเดช” (สมเกียรติ วันทะนะ, 2561: 24 – 29)
 
ดังนั้นหากวิเคราะห์ตัวบทลิลิตโองการแช่งน้ำแล้ว จะเห็นว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ได้ผูกระบบความเชื่อว่าด้วยศาสนาไทย “ผี – พราหมณ์ – พุทธ เข้ากับการเมืองในยุคนั้น” ทำให้ข้าราชบริพารเกิดความเกรงกลัวต่อการคิดคดทรยศและกระทำผิดต่อคำที่ได้สาบานในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา นอกจากนี้ยังมีการเล่นกับความเชื่อเรื่องภูตผีของผู้คนในสังคมไทยอดีตที่ยึดถือและบูชาผีเป็นส่วนใหญ่ว่าถ้ากระทำผิดต่อคำสาบานในพิธี ภูติผีเทวดาจะมาลงโทษผู้กระทำผิดนั้นด้วย และในอีกหนึ่งนัยยะหนึ่งที่แฝงมาในลิลิตโองการแช่งน้ำก็คือ เป็นการปลูกฝังความเชื่อเรื่อง “การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หากประพฤติผิดก็ต้องได้รับการลงโทษนั่นเอง สอดคล้องกับที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ้างถึงใน คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (2564, ออนไลน์) ได้กล่าวว่า ในอุษาคเนย์การนับถือศาสนาผสมเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ชนชั้นนำยังนับถือศาสนาผสมอย่างเปิดเผย อาจมีบางยุคบางสมัยที่ผู้นำในหมู่ชนนั้น ๆ จะอุปถัมภ์ค้ำชูหรือเน้นนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือเหตุผลอื่น ๆ ก็ตาม อย่าง “เขมร” แรกเริ่มก็นับถือวิญญาณบรรพบุรุษ เมบาและเนียะตา แล้วศาสนาพราหมณ์ ไศวนิกายและไวษณพนิกาย ก็เข้ามา จนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็รับศาสนาพุทธนิกายมหายานเข้ามาเพิ่มอีก “ผี” จึงไม่ใช่ความเชื่องมงาย หากแต่เป็นพื้นฐานของแทบทุกความเชื่อและศาสนาบนโลก และศาสนาไทยก็ไม่เคย “ไร้ผี” หากแต่มีการผสมกันระหว่างความเชื่อที่หลากหลาย
 
ในอีกมุมมองที่น่าสนใจ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้กล่าวว่าจริง ๆ แล้วน้ำสาบานนั้นหาได้ศักดิ์สิทธิ์ไม่ โดยอ้างถึงกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการในการถือน้ำนั้น “…ยืนยันได้ดีว่า พิธีถือน้ำหาใช่พิธีวิเศษสูงส่งอะไรไม่ แท้จริงก็คือพิธีที่จะทดสอบดูทุก ๆ หกเดือนนั้นเองว่าใครซื่อสัตย์ต่อกษัตริย์ และใครกำลังคิดสลัดแอกการกดขี่ของกษัตริย์ออกไป….” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2547 : 456) ดังนั้น “ลิลิตโองการแช่งน้ำ” จึงถือเป็น “ตัวบท” สำคัญในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองของไทยสมัยโบราณ ที่แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความเชื่อศาสนาไทยเข้ามาหลอมรวมกันอยู่ในวรรณกรรมเรื่องนี้ จนยากที่จะแยกขาดออกจากกันเป็นท่อน ๆ ได้ กล่าวคือ เป็นอำนาจภายนอกที่ใช้เป็นเครื่องมือในสร้างระบบธรรมาภิบาลและสร้างหลักประกันเสถียรภาพของระบบการเมืองทั้งระบบของอยุธยาผ่านระบบความเชื่อตามบริบทสังคมจวบจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
จิตร ภูมิศักดิ์. (2547). โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ :
ฟ้าเดียวกัน.
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. (2553). อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ :
ธนาเพรส.
ไมเคิล ไรท์. (2543). โองการแช่งน้ำ. กรุงเทพฯ : มติชน.
สมเกียรติ วันทะนะ. (2561). โองการแช่งน้ำ: อำนาจของการสาปแช่งหรืออำนาจของการจับจ้อง. วารสาร
สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 44(1), 19 – 40.
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2564). ผี พราหมณ์ พุทธ: “ศาสนาไทย” ในศาสนา “ผี-พราหมณ์-พุทธ”. [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2566 จาก