thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

บทบาทของสตรีในศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร โดย ผศ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ

บทบาทของสตรีในศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร โดย ผศ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ

ในพุทธศาสนานิกายมหายาน บทบาทของสตรีซึ่งถูกกล่าวถึงในพระสูตรต่างๆ มีอยู่พอสมควร เช่น ในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร ซึ่งเล่าถึงพระสารีบุตร ซึ่งได้พบกับนางเทพธิดานางหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ของวิมลเกียรติมหาเศรษฐี และเป็นมหาโพธิสัตต์ หลังจากได้สนทนาธรรมกัน พระสารีบุตรมีความประทับในองค์เทพธิดาว่ามีความรู้สูง แต่เหตุใดยังมีร่างเป็นหญิง นางเทพธิดาจึงตอบว่า นับแต่นางมาอยู่ที่นี่ได้ 12 ปี และได้ตรวจสอบวาระจิตของตนโดยละเอียด นางจับไม่ได้เลยว่าส่วนไหนที่เป็นหญิง และนางเทพธิดาได้ใช้อิทธิฤทธิ์แปลงร่างของตนเป็นพระสารีบุตร และแปลงร่างของพระสารีบุตรเป็นนางเทพธิดา ก่อนจะถามพระสารีบุตรในร่างแปลงว่า ท่านสามารถแปลงร่างจากเพศหญิงได้หรือไม่ พระสารีบุตรพิจารณาแล้วตอบว่า ไม่ทราบจะแปลงร่างอย่างไร เพราะหาสารัตถะแห่งความเป็นเพศหญิงไม่พบ นางเทพธิดาจึงแปลงร่างกลับคืน และอธิบายให้พระสารีบุตรเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงจะไม่มีการยึดติดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จะไม่มีการยึดติดว่าเพศหญิงหรือเพศชาย เมื่อปฏิบัติธรรมถึงขั้นสูงแล้วจะละความแตกต่างทางเพศ คือพ้นไปจากสมมุติทั้งหลายแล้วนั่นเอง ซึ่งแสดงว่าหญิงหรือชายไม่ใช่สาระสำคัญในการปฏิบัติธรรม (ธัมมนันทา, 2546)
 
นอกจากในวิมลเกียรตินิทเทสสูตรแล้ว ยังมีพระสูตรสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสของสตรีในการเป็นผู้เผยแผ่และสั่งสอนธรรมได้ ทั้งยังให้ความสำคัญกับสตรีมากจนถือว่าสตรีก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าได้ นั่นก็คือ ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร (สุมาลี มหณรงค์ชัย,2546)
 
ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตรเป็นงานนิพนธ์ของนิกายมหาสังฆิกะ ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 สมัยอันธระ (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2544) เป็นพระสูตรที่ใช้เป็นคัมภีร์หลักในอินเดียเกี่ยวกับการสอนเรื่องพุทธภาวะในตัวของสรรพสัตว์และเป็นพระสูตรซึ่งมีอิทธิพลต่อคัมภีร์ซึ่งมามีอิทธิพลต่อนิกายโยคาจาระ นั่นก็คือ ลังกาวตารสูตร และยังเชื่อว่าพระสูตรนี้เป็นบ่อเกิดของมหายานศรัทโธตปาทศาสตร์ด้วย
 
ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตรถูกรจนาขึ้นหลังจากมีปรัชญาปารมิตาสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรหลักได้ไม่นาน และได้มีการกล่าวถึงพระสูตรนี้ในวรรณคดีสันสกฤตในชื่อต่างๆ (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2544) ดังนี้
1. ในลังกาวตารสูตรเรียก “ศรีมาลา เทวี อธิกฤตยะ”
2. ในมหายานสูตราลังการสูตร เรียก “ศรีมาลาสูตร”
3. ในรัตนโคตรวิภาค เรียก “อารยศรีมาลาสูตร”
4. ในศึกษาสมุจจัยของศานติเทวะ เรียก “ศรีมาลาสิงหนาทสูตร”
 
ในประเทศจีนพระสูตรนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสมัยของพระนางบูเช็กเทียน ที่ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะเป็นเพราะศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร เป็นที่นิยมมาก่อนแล้วในอินเดีย อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พระสูตรนี้มีความสอดคล้องกับแนวคิดของจีน และมีอิทธิพลต่อพระสูตรอื่นๆ ในรุ่นหลังด้วย แต่ในยุคหลังศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตรได้เสื่อมความนิยมลง ซึ่งอาจเป็นเพราะถูกบดบังโดยอิทธิพลของวิสุทธิมรรค หลักคำสอนในนิกายโยคาจาร ซึ่งเป็นนิกายที่พระถังซำจั๋งสนับสนุนในราชวงศ์ถังตอนต้น และที่สำคัญที่สุด ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 นิกายฌานของจีน ได้หันไปนิยมลังกาวตารสูตรมากกว่าด้วย
 
ในประเทศญี่ปุ่น เจ้าชายโชโตกุ ไทชิ ได้ทรงนิพนธ์อรรถกถาของศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตรขึ้น และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น โดยเฉพาะในคำสอนของนิกายชินรานโชนิน และในการศึกษาพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่นในสมัยหลัง อาจกล่าวได้ว่า คำอธิบายที่ชัดเจนของศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร เรื่องศรัทธาของชาวพุทธนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในญี่ปุ่น และยังมีหลักคำสอนเรื่องศรัทธา ซึ่งเข้ากันได้ดีกับศัพท์ของนิกายสุขาวดีด้วย (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2544)
 
เนื้อหาของ ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตรเริ่มเรื่องที่เมืองสาวัตถี โดยกล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระนางมัลลิกาทรงพยายามชักนำพระธิดา คือพระนางศรีมาลาเทวี ให้สนพระทัยในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยแบ่งออกเป็น 5 บทรวมบทส่งท้าย โดในศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตรได้ยกย่องฐานะของพระนางศรีมาลาเทวีไว้เป็นพิเศษ ขณะที่คัมภีร์อื่นในทางพุทธศาสนามักจะจำกัดความก้าวหน้าทางวิญญาณในขั้นสูงของสตรี เช่น กมลสูตร (บทที่เก้า) กล่าวว่า สตรีไม่สามารถอยู่ในฐานะทั้งห้าได้ คือ พระพรหม พระอินทร์ จตุโลกบาล จักรวาทิน โพธิสัตว์ขั้นสูง และได้กล่าวไว้ในที่อื่นอีกในทำนองเดียวกัน ซึ่งทฤษฎีที่กล่าวถึงข้อจำกัดของฝ่ายหญิงนั้น ควบคู่ไปกับทัศนะที่เชื่อว่า ถ้าผู้หญิงมีศรัทธาและประกอบบุญกุศลก็จะเปลี่ยนเพศเป็นชายได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะพัฒนาได้ไปจนถึงขั้นสูงสุด เช่น ในอภิธรรมโกษา ของวสุพันธุ อธิบายว่าทั้งบุรุษและสตรีสามารถปฏิบัติได้ในขั้นตอนทั้งสี่ ของนักพรต เมื่อสตรีปฏิบัติจนครบในธรรมชาติโลกีย์อันสูงสุดแล้ว เพศหญิงจะหายไปและกลายเป็นเพศชายแทน (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2544)
 
ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของสตรีในสองแนวทางคือ
1.พระสูตรนี้แสดงถึงการยกย่องสตรีโดยการกล่าวถึงพระนางศรีมาลาเทวี ในฐานะพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นการยอมรับสตรีให้มีบทบาทเทียบเท่าบุรุษในการบำเพ็ญบารมี และยังแสดงถึงความสามารถของพระนางศรีมาลาในการแสดงธรรมที่ลึกซึ้งให้ปุถุชนสามารถเข้าใจได้อีกด้วย นอกจากนั้น พระสูตรนี้ยังยอมรับความสามารถของสตรีในการเผยแผ่ธรรมะและเข้าถึงธรรมะขั้นสูงได้เช่นเดียวกับบรุษ โดยมีพระนางศรีมาลาเทวีเป็นตัวอย่าง
2. ในพระสูตรได้มีคำกล่าวของพระนางศรีมาลาเทวี โดยใช้คำเรียกสตรีว่ากุลธิดา ควบคู่ไปกับคำว่ากุลบุตร ในฐานะโพธิสัตว์ในการพัฒนาจิตทุกระดับ ซึ่งศัพท์นี้จะใช้กับพระโพธิสัตว์ในระดับที่ได้เสียสละ ร่างกาย พลังชีวิต และทรัพย์สมบัติแล้ว ซึ่งก็คือโพธิสัตว์ระดับสุดท้ายในภูมิสิบ ที่ถึงพร้อมด้วยบารมีอันมั่นคง ไม่ขาดสาย และหาประมาณมิได้ (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2544) จากคำกล่าวนี้เองจะเห็นได้ว่า พระสูตรนี้ให้ความสำคัญกับสตรีทั่วไปว่าสามารถบำเพ็ญโพธิสัตว์มรรคได้จนกระทั่งถึงภูมิสุดท้าย คือ ภูมิที่สิบ ซึ่งเป็นภูมิขั้นสูงสุดโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเพศแต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับในบทบาทและสถานภาพของสตรีว่าสามารถพัฒนาไปถึงขั้นสูงสุดได้ โดยไม่มีเรื่องเพศมาเป็นข้อจำกัด
 
จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร ได้ให้ความสำคัญและยกย่องสถานภาพของสตรีเป็นพิเศษโดยผ่านทางตัวพระนางศรีมาลาเองและคำกล่าวในการแสดงธรรมของพระนาง ซึ่งจุดนี้ทำให้ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตรมีความต่างจากพระสูตรอื่นๆ และพระสูตรนี้ก็แสดงจุดยืนในการแสดงบทบาทของสตรีเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างชัดเจน และยังทำให้สตรีเกิดกำลังใจและไม่ย่อท้อในการปฏิบัติ ซึ่งสาเหตุที่พระสูตรนี้มีความแตกต่างจากพระสูตรอื่นๆ ที่กล่าวว่าการบำเพ็ญบารมีขั้นสูงจำต้องมีการแปลงเพศนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก ในยุคที่มีการแต่งศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร ซึ่งก็คือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 นั้น เป็นสมัยที่คณะสงฆ์ยังต้องพึ่งพาอาศัยราชนิกูล ราชินี และสตรีซึ่งเป็นภรรยาของขุนนางในตำแหน่งที่สูง (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2544) ซึ่งการที่ต้องอาศัยการเกื้อกูลในสตรีเหล่านี้ ที่มีบทบาทสำคัญในการปกครองและมีอิทธิพลต่อคณะสงฆ์ในยุคนั้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร มีการกล่าวยกย่องฐานะของสตรีเป็นพิเศษมากกว่าพระสูตรอื่นๆ
 
บรรณานุกรม
กัลยาณสิทธิวัฒน์, พระครู. เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
ดวงแก้ว, 2544.
ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์. ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์ไทยธิเบต, 2544.
ธัมมนันทา. ภิกษุณี.. บวชไม่ได้ วาทะกรรมที่กำลังจะเป็นโมฆะ .กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2546.
ประพจน์ อัศววิรุฬหการ, ผศ. ดร. โพธิสัตวจรรยา: มรรคาเพื่อมหาชน. กรุงเทพฯ : คณะอักษร
ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทยและอรรถกถาแปล 91 เล่ม. พิมพ์ครั้งที่ 4.
กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2543.
สุมาลี มหณรงค์ชัย. พุทธศาสนามหายาน.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2546.
เสถียร โพธินันทะ. ชุมนุมพระสูตรมหายาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2516.