thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

อักษรโบราณของไทยและแนวทางการปริวรรต โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล

อักษรโบราณของไทยและแนวทางการปริวรรต

โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล

ตัวอักษรที่พบในจารึกและเอกสารโบราณประเภทต่าง ๆ ของไทย ในปัจจุบันพบว่ามีการใช้ตัวอักษรโบราณมากถึง 7 แบบ คือ อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน อักษรไทย อักษรฝักขาม อักษรไทยนิเทศ และอักษรไทยน้อย โดยอักษรทั้ง 7 แบบนี้สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะทางรูปแบบอักขรวิธี คือ อักษรและอักขรวิธีที่เหมาะกับการบันทึกภาษาไทย ได้แก่ อักษรไทย อักษรฝักขาม อักษรไทยนิเทศ และอักษรไทยน้อย อักษรและอักขรวิธีที่เหมาะกับการบันทึกภาษาบาลี ได้แก่ อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา และอักษรธรรมอีสาน โดย อักษรโบราณทั้ง 3 แบบหลังนี้ นิยมนำมาใช้บันทึกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 และใช้สืบต่อมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 24
.
โดยธรรมเนียมนิยมแล้ว คัมภีร์ใบลานจะใช้บันทึกเฉพาะหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาหรือคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ถือว่ามีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงพบว่าเนื้อหาที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาพระไตรปิฎกหรือหลักธรรมต่าง ๆ ที่เป็นภาษาบาลีที่จารด้วยอักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา และ อักษรธรรมอีสาน ดังนั้นหากต้องการอ่าน ถ่ายถอด หรือปริวรรตภาษาบาลีที่จารในใบลานด้วยตัวอักษรแบบหนึ่งไปเป็นตัวอักษรอีกแบบหนึ่งจึงจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องตัวอักษรและหลักการพื้นฐานของการปริวรรตถ่ายถอดด้วย
.
การปริวรรตเอกสารใบลาน หมายถึง การแปรหรือเปลี่ยนแปลงเอกสารใบลาน กล่าวคือ การเปลี่ยนอักษรที่บันทึกในเอกสารใบลานให้เป็นอักษรอื่น ๆ หรือเป็นอักษรในรูปแบบปัจจุบันโดยอาจมีการปรับให้เป็นภาษาปัจจุบันด้วย โดยทั่วไปนิยมปริวรรตแบบการถ่ายถอดเอกสารใบลานแบบถอดตามตัวอักษร เพราะสามารถเก็บรายละเอียดของรูปและเสียงตามแบบเดิมที่ปรากฏบนใบลานไว้ได้ทั้งหมด โดยมักจะแบ่งเป็นสองขั้นตอน คือ ถ่ายถอดตามที่ปรากฏบนเอกสารใบลานทุกประการเพื่อเป็นข้อมูลในการค้นคว้าเชิงภาษาศาสตร์ แล้วจึงค่อยถ่ายถอดเป็นรูปแบบของภาษาที่ปรากฏในใบลานนั้น ๆ ในรูปแบบปัจจุบัน
.
ในขั้นตอนการอ่านและปริวรรตต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากรูปอักษรในคัมภีร์ใบลานไม่ได้คงที่เหมือนเดิมทุกครั้งเนื่องจากเป็นลายมือเขียน รูปอักษรในคัมภีร์ใบลานจึงแตกต่างกันตามลักษณะเฉพาะของลายมือผู้จารแต่ละคน หรือแม้จะถูกจารโดยผู้จารเพียงคนเดียวในบางครั้งเส้นลายมือที่จารลงไปในใบลานก็อาจจะไม่เหมือนกันเสมอไปได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่ออ่านคัมภีร์ใบลานแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นตัวอักษรใดเนื่องจากการเขียนตัวอักษรไม่ชัดเจน นอกจากจะใช้การเทียบหลักไวยากรณ์ภาษาหรือดูบริบทเนื้อหาแล้ว ยังต้องย้อนกลับไปดูรูปอักษรนั้น ๆ ที่เคยปรากฏอยู่ในตำแหน่งอื่น ๆ ในคัมภีร์ใบลานฉบับเดียวกันด้วย เพื่อเทียบเคียงว่าเป็นอักษรตัวใดกันแน่ ดังนั้นการเก็บข้อมูลรูปอักษรที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานแต่ละฉบับไปในระหว่างที่อ่านและปริวรรตจึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการใช้อ้างอิงวินิจฉัยปัญหาในการอ่านและปริวรรต และจะเป็นข้อมูลอ้างอิงในการศึกษาวิจัยวิวัฒนาการและลักษณะพิเศษของอักษรโบราณได้อีกด้วย
ข้อมูลบางส่วนจาก : “แนวทางการสร้างฐานข้อมูลพระไตรปิฎกบาลีจากคัมภีร์ใบลาน” วารสารธรรมธารา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1