thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

พระพุทธชินราช: พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยแห่งอาณาจักรล้านนาสู่รัตนโกสินทร์ โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

พระพุทธชินราช: พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยแห่งอาณาจักรล้านนาสู่รัตนโกสินทร์

โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

ในราชอาณาจักรไทยนั้นมีพระพุทธรูปที่งดงามด้วยพุทธลักษณะอยู่มากมายหลายองค์และถ้าเขียนอธิบายให้ครบทุกองค์ทุกปางทุกยุคสมัยคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี นอกจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ที่แสนจะงดงามและล้ำค่าที่ผู้เขียนได้เคยอธิบายไปแล้ว พระพุทธชินราช (หลวงพ่อใหญ่) ซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานการสร้างเป็นลายลักษณ์อักษรก็เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยคู่บ้านคู่เมืองที่งดงามด้วยศิลปะแบบสุโขทัยอีกองค์หนึ่งที่พุทธศาสนิกชนมีศรัทธาปสาทะมาเป็นเวลายาวนานจนถึงปัจจุบัน (ลักษณะไทย ๑ พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย, 2551) ตามพระราชพงศาวดารล้านนาทางภาคเหนือ (พระวิเชียรปรีชาผู้เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิตขวา ได้เรียบเรียงใหม่ตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อปี พ.ศ. 2350) กล่าวเป็นตํานานว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไทย/ลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างเมืองพิษณุโลก (ด้วยความเชื่อว่าเป็นสถานที่ซึ่งองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาฉันจังหันใต้ต้นสมอที่นี่) และสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้นโดยประกอบด้วยพระมหาธาตุรูปปรางค์ มีพระวิหารทิศและระเบียงรอบพระมหาธาตุทั้ง 4 ทิศ และทรงเป็นผู้จัดให้มีการสร้างองค์พระโดยให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นสามองค์คือพระศรีศาสดา พระชินสีห์ พระชินราช ในคราวเดียวกัน (พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์, 2551) โดยปั้นเบ้าพิมพ์ขึ้นพร้อมกันทั้งสามองค์ ผลปรากฎว่าพระศรีศาสดาและพระชินสีห์นั้นทองแล่นเสมอกันบริบูรณ์เต็มเบ้า แต่เบ้าพิมพ์พระชินราชทองไม่แล่นเป็นองค์ นายช่างชาวเชลียง (สวรรคโลก) เชียงแสน และหริภุญชัย (ลำพูน) จึงช่วยกันพยายามหล่อถึงสามครั้งก็ไม่เป็นผล ท้าวสักกะเทวราชหรือพระอินทร์จึงต้องจำแลงแปลงกายลงจากดาวดึงส์เทวโลกเป็นตาปะขาวมาช่วยหล่อจึงสำเร็จด้วยเทวานุภาพและทำตรีศูลย์ไว้ในพระพักตร์ขององค์พระ เมื่อเบ้าพิมพ์องค์พระทั้งสามหล่อได้สําเร็จแล้วและรออีกเดือนหนึ่งเบ้าพิมพ์จึงแห้งสนิท พระองค์จึงให้นายช่างตั้งเตาหล่อพระชินราชและทองก็แล่นเต็มองค์พระ มีความสวยงามตามพุทธลักษณะทุกประการ นายช่างจึงช่วยกันขุดดูเกศาพระพุทธรูปก็ปรากฏเป็นรูปกายอันงามบริบูรณ์แล้วทั้งสามองค์เมื่อพ.ศ. 1500 (บางตํานานว่าสร้างปีพ.ศ. 1900) ต่อมาพระองค์จึงให้นำองค์พระทั้งสามไปตั้งไว้ในสถานสามแห่งไว้เป็นที่เสี่ยงทายกลางเมืองพิษณุโลก ตามมาด้วยพระราชพิธีราชาภิเษกของเจ้าไกรสรราชกับสุลเทวีที่เมืองละโว้ และงานฉลองวัดวาอารามในราชอาณาจักรและพระพุทธรูปทั้งสามอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน นอกจากนี้ทองสัมฤทธิ์/สําริด (bronze-มีส่วนผสมระหว่างทองแดงและดีบุก) ที่เหลือจากการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ยังสามารถนำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปเล็กๆได้อีกองค์หนึ่ง คือ “พระเหลือ” ซึ่งก็ยังมีทองสัมฤทธิ์เหลือทำให้สามารถหล่อเป็นพระอัครสาวกของพระเหลือได้อีกสององค์ ส่วนทั้งอิฐที่ก่อเตาหลอมทองสัมฤทธิ์และใช้ในการหล่อพระนั้นก็ได้นำเอามารวมกันก่อเป็นชุกชีสูงสามศอกเป็นตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราชและปลูกต้นมหาโพธิ์บนชุกชี 3 ต้น เรียกว่า “โพธิ์สามเส้า” และได้สร้างวิหารน้อยขึ้นระหว่างต้นโพธิ์ ต่อมาจึงอัญเชิญพระเหลือพร้อมพระอัครสาวกทั้งสององค์เข้าประดิษฐานในวิหารนั้นจึงเรียกว่า “วิหารหลวงพ่อเหลือ” ปัจจุบันยังคงตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราช
.
.
สำหรับองค์พระพุทธชินราชนั้น มีหน้าตักกว้าง 5 ศอก (2.5 เมตร) และสูง 7 ศอก (3.5 เมตร) สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ลงรักปิดทองคำเปลว (24K/100%) อย่างสวยงาม และมีซุ้มเรือนแก้วที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาประดับด้านหลังทําให้องค์พระมองดูสวยงามเด่นออกมา สําหรับความงามราวกับเทพยดาเนรมิตนี้มีผู้บรรยายไว้หลายพระองค์และหลายท่าน เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงปรารภถึงความงามของพระพุทธชินราชไว้ดังนี้ “…พระพุทธชินราช ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย…ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ว่าได้…” หรือที่ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์กล่าวว่า “…ข้าพเจ้าเคยไปราชการที่จังหวัดพิษณุโลกกับฝรั่งหลายคราว เขาเคยกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า พระพุทธรูปองค์นี้สวยเหลือเกิน เขาอาจนั่งดูอยู่ในวิหารนี้ได้โดยไม่เบื่อตั้ง 2-3 ชั่วโมง บางคนถึงกับกล่าวว่าเขารู้สึกอิจฉาคนไทยมากที่มีพระพุทธรูปงามเช่นนี้ ฯลฯ ถ้าท่านเป็นคนไทย…ความงามของพระพุทธชินราชจะปรากฏแก่ท่านในขณะที่นั่งอยู่ในวิหารถึงทำให้น้ำตาไหลออกมาได้โดยไม่รู้สึกตัว…” (ศิลปวัฒนธรรม, 2566) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) แห่งราชวงศ์จักรี ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2469 แด่องค์พระพุทธชินราชด้วย ปัจจุบันวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอันดับต้นๆของจังหวัดพิษณุโลก ในแต่ละวันมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากเข้ามาสักการะบูชาพระพุทธชินราชและทำบุญต่างๆที่วัดและเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566 (6/6/66) พระพุทธชินราช มีอายุครบ 666 ปีพอดี (ถ้าเชื่อตำนานที่สร้างปี พ.ศ. 1900) ดังนั้นชาวพิษณุโลกจึงร่วมใจกันพับดอกบัว 10,999 ดอกเพื่อบูชาพระพุทธชินราชโดยมีการจัดขบวนแห่ดอกบัวไปที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พร้อมนางรำทั้ง 666 คนเพื่อรำบูชาถวายเป็นพุทธบูชารอบพระวิหารหลวงพระพุทธชินราช และนำพานดอกบัวไปไว้ในจุดถวายในพระวิหารหลวงด้วยและมีพิธีถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ตามประเพณีทั่วไปของพุทธศาสนิกชน (//thethaiger.com) ส่วนพระพุทธชินสีห์ถูกนำไปประดิษฐานไว้ที่พระนคร (กรุงเทพมหานคร) โดย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้อัญเชิญมาไว้ภายในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และ พระศรีศาสดาก็ถูกอัญเชิญมาที่พระนครด้วยเช่นกัน โดยเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้างแห่งจังหวัดนนทบุรีได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงแพล่องไปที่วัดบางอ้อยช้าง ในเวลาต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้อัญเชิญพระศรีศาสดาไปประดิษฐานที่วัดประดู่ฉิมพลี (ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ, 2548) อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเห็นว่า พระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปสำคัญและสร้างขึ้นในเวลาเดียวกันกับพระพุทธชินสีห์ พระองค์จึงทรงให้อัญเชิญพระศรีศาสดามาไว้ที่พระวิหารวัดบวรนิเวศวิหาร และย้ายพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถคู่กับพระสุวรรณเขตซึ่งเป็นพระประธานองค์เดิมในพระอุโบสถ ทำให้พระอุโบสถในวัดบวรนิเวศมีพระพุทธรูปสององค์มาจนถึงปัจจุบัน และที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารปัจจุบันได้สร้างพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาองค์จำลองและนำไปประดิษฐานไว้แทนที่พระวิหารด้านทิศเหนือและพระวิหารด้านทิศใต้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าจะเป็นองค์จริงที่สร้างมาก่อนหรือเป็นองค์จําลองที่สร้างให้เหมือนองค์จริงในภายหลังก็เป็นตัวแทนแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเหมือนกัน เมื่อได้กราบไหว้สักการะบูชาย่อมเป็นการระลึกถึงพระพุทธองค์และเป็นพุทธานุสติด้วยเช่นเดียวกัน