thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

คำบริกรรมภาวนาที่ใช้ในการปฏิบัติสมาธิ โดย อาจารย์บุญมี พวงเพชร

คำบริกรรมภาวนาที่ใช้ในการปฏิบัติสมาธิ

โดย อาจารย์บุญมี พวงเพชร

               การปฏิบัติสมาธิภาวนาในประเทศไทย มักจะมีการนำคำบริกรรมต่างๆ มาใช้ ซึ่งในแต่ละสำนักก็อาจจะใช้คำบริกรรมที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าสำนักนั้นปฏิบัติตามแบบของอาจารย์ท่านใด คำบริกรรมที่นิยมใช้กันมาก เช่น พุทธ-โธ, ยุบหนอ-พองหนอ, สัมมา-อะระหัง เป็นต้น หลายคนคงเคยสงสัยว่า คำบริกรรมเหล่านี้มีปรากฎในพระไตรปิฎกหรือไม่? ถ้าคำบริกรรมเหล่านี้ไม่มีในพระไตรปิฎก แล้วใครเป็นคนกำหนดขึ้นหรือนำมาใช้คนแรก?
               จากการศึกษาพระไตรปิฎกพบว่า ในการปฎิบัติสมาธิ ไม่มีการใช้คำบริกรรมเหล่านี้ปรากฏอยู่เลย เช่น ในสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ในการเจริญอานาปานสติ (อานาปานบรรพ, ๑๓๓) ได้กล่าวไว้เพียงว่า ….นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติ หายใจออก สติหายใจเข้า เมื่อหายใจยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น..” เป็นต้น แนวการปฏิบัติที่ปรากฏในพระสูตรอื่นๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น ใน อานาปานสติสูตร (๑๑๘) ก็แนะนำให้มีสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ เป็นต้น เหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า การใช้คำบริกรรมในการภาวนาที่กล่าวมานั้น ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก คำภาษาบาลีที่ว่า พุทโธ ที่มีปรากฎในพระไตรปิฎก เช่น ในเสลสูตร แห่งมัชฌิมนิกาย ก็ไม่ได้ใช้ในการภาวนาแต่อย่างใด เพียงแต่กล่าวว่าเมื่อ เสลพราหมณ์ ได้ยินคำว่า พุทโธ จากท่านเกณิยชฏิล ก็รู้สึกปราบปลื้มดีใจ และได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอบรรพชา เป็นต้น ส่วนคำอื่นที่คนไทยนำมาใช้ในการภาวนา เช่น พองหนอ ยุบหนอ และสัมมาอะระหัง เป็นต้น ก็ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกว่ามีการใช้คำดังกล่าวในการปฏิบัติสมาธิภาวนาแต่อย่างใด จากที่กล่าวมา จึงชี้ให้เห็นว่า การนำคำภาวนา พุทโธ, พองหนอ ยุบหนอ, สัมมาอะระหัง มาใช้ในการบริกรรมภาวนานั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ปัญหาที่ตามมาคือ แล้วคำเหล่านั้นถูกนำมาใช้ในการภาวนาตั้งแต่เมื่อไหร? ใครเป็นผู้นำมาใช้เป็นคนแรก? แล้วการนำคำภาวนาเหล่านี้มาใช้จะทำให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติจริงหรือไม่? หรือชาวพุทธควรเลิกใช้คำภาวนาเหล่านี้แล้วหันไปปฏิบัติตามแนวทางที่ปรากฎในพระไตรปิฎก?
               หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการนำคำบริกรรมมาใช้ในการปฏิบัติสามาธินั้นไม่ได้มีให้ค้นคว้าได้มากนัก จึงไม่มีใครรู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่น และใครเป็นคนนำมาใช้เป็นคนแรก เท่าที่สามารถสืบค้นได้จากหลักฐานที่มีอยู่ และมีการบอกเล่าต่อกันมาพบว่า คำว่าพุทโธ มีการนำมาใช้ในช่วงศตวรรตที่ ๑๙ นี่เอง โดยหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล (พระครูวิเวกพุทธกิจ) แต่ความจริงแล้วก็ต้องบอกว่า การใช้คำบริกรรมนี้ต้องมีมาตั้งแต่ก่อนหลวงปู่เสาร์ เพราะหลวงปู่เสาร์ก็ต้องไปฝึกภาวนากับอาจารย์ท่านอื่น เช่น อาจารย์ม้าว เทวธมฺโม, พระครูทา โชติปาโล ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน หรือ พระอธิการสีทา ชยเสโน พระกรรมวาจาจารย์ และท่านอาจารย์เหล่านี้ก็ต้องเรียนมาจากอาจารย์องค์ก่อนๆ สืบต่อกันมา อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของคำบริกรรมนี้ก็ไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงให้ชัดได้ว่าเกิดขึ้นมาเมื่อใด ส่วนคำบริกรรมอื่นๆ เช่น พองหนอยุบหนอ ก็มีหลักฐานไม่แน่ชัดเช่นกัน เล่าต่อกันมาว่าเกิดขึ้นในราวปีพุทธศักราช ๒๓๕ และต่อมาพระอาจารย์มหาสีสะยาดอ หรือ ภัททันตะ โสภณมหาเถระ ได้นำมาเผยแผ่ จนกลายเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา ส่วนคำว่าสัมมาอะระหัง หลักฐานพบว่าเกิดขึ้นจากพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร) ได้นำมาใช้และเผยแผ่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามที่มาที่ไปของคำบริกรรมเหล่านี้ ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าในทางวิชาการอย่างจริงจัง