thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

การรักษาพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

การรักษาพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน

โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

               พุทธศาสนาหรือศาสนาพุทธในศตวรรษที่ 21 นี้มีความแตกต่างเป็นอย่างมากถ้าเปรียบเทียบกับในสมัยพุทธกาลซึ่งเป็นสมัยที่พระพุทธองค์มีพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อ 2566 ปีล่วงมาแล้ว พุทธศาสนาก็ยังดำรงคงอยู่ต่อมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 25 พุทธศตวรรษผ่านมาหลายยุคหลายสมัย สำหรับในราชอาณาจักรไทยพบว่าพุทธศาสนาก็ดํารงอยู่อย่างมั่นคงมาตั้งแต่
               (1) สมัยทวาราวดีที่จังหวัดนครปฐม เพราะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น
               (2) สมัยอาณาจักรอ้ายลาว (นิกายมหายาน)
               (3) สมัยศรีวิชัยที่ภาคใต้ของไทย (นิกายมหายาน)
               (4) สมัยลพบุรี (นิกายมหายานผสมกับศาสนาพราหมณ์และมีนิกายเถรวาทด้วย) ที่เมืองลพบุรีหรือละโว้/จังหวัดลพบุรี, จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์
               (5) สมัยสุโขทัยที่จังหวัดสุโขทัย (แบบลังกาวงศ์)
               (6) สมัยอยุธยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (นิกายมหายานและนิกายเถรวาท) ที่กรุงเทพมหานคร (ที่มา: www.dhammathai.org) และในปัจจุบันนี้พุทธศาสนาได้แผ่ขยายออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น
               ทําให้พุทธศาสนาเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นหนึ่งในหกศาสนาหลักของโลก (ศาสนาพุทธ, ศาสนาอิสลาม, ศาสนาคริสต์, ศาสนาพราหมณ์/ฮินดู, ศาสนาซิกข์ และศาสนายิว) (ที่มา: Six World Faiths, Owen Cole, 1998) โดยมีคนที่นับถือมากเป็นอันดับสี่รองจากศาสนาคริสต์ (2.1 พันล้านคน) ศาสนาอิสลาม (1.5 พันล้านคน) ศาสนาพราหมณ์/ฮินดู (900 ล้านคน) มีคนนับถือศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก “ครึ่งหนึ่งพุทธศาสนิกชนทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศจีน รองลงมาคือประเทศไทย ร้อยละ 13.2 และอันดับ 3 คือที่ญี่ปุ่น ร้อยละ 9.4% [376 ล้านคน/4.7%จากประชากรทั่วโลก]” (www.bangkokbiznews.com, สถิติจำนวนผู้นับถือศาสนาและลัทธิต่างๆ, 2556, www.thaihealth.or.th) จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเมื่อมีคนนับถือศรัทธามากก็ย่อมมีคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มากโดยใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือและเป็นเหตุให้พุทธศาสนาค่อยๆเสื่อมลง เมื่อเป็นเช่นนี้พุทธศาสนิกชนจํานวนมากจึงไม่อาจทนอยู่เฉยได้จึงได้ออกมาจัดตั้งสมาคม, องค์กร, เครือข่ายและชมรมต่างๆเพื่อปกป้องพุทธศาสนา โดยองค์กรที่ใหญ่ที่สุดที่ดูแลพุทธศาสนาในทุกจังหวัดทั่วประเทศคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (National Office of Buddhism) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี, กรมการศาสนา (Department of Religious Affairs) สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม, และยังมีสมาคมปกป้องพระพุทธศาสนา, องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อปพส), เครือข่ายจรรโลงพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย, เครือข่ายปกป้องพระธรรมวินัย, ชมรมพุทธบริษัทสี่ดำรงธรรม เป็นต้น
               นอกเหนือจากสมาคม, เครือข่าย, ชมรมรวมถึงองค์กรต่างๆแล้ว ในการรักษาพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ พุทธศาสนิกชนก็ต้องศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่น
               [1] การประพฤติตนตามหลักศีล 5 ซึ่งเป็นศีลพื้นฐานของฆราวาส ศีล 5 นี้มีอานิสงส์มากยิ่งนัก เมื่อตั้งใจรักษาไว้ได้และเจริญจิตตภาวนาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าพระอริยสงฆ์สอนก็สามารถทำให้บรรลุธรรมได้ตั้งแต่ระดับพระโสดาบันและพระสกิทาคามี เมื่อปฎิบัติถึงขั้นนี้แล้วถึงจะเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นพุทธสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วอย่างแท้จริง,
               [2] การนำหลักธรรมต่างๆมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจําวัน คือ ดำเนินชีวิตตามอริยมรรคที่มีองค์แปดได้แก่
                             (1) สัมมาทิฏฐิ—ความเห็นที่ถูกต้องตามความรู้ในอริยสัจ 4
                             (2) สัมมาสังกัปปะ—ความคิดที่ถูกต้อง เช่น ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน
                             (3) สัมมาวาจา—วาจาที่ถูกต้อง เช่น การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
                             (4) สัมมากัมมันตะ–การปฏิบัติที่ถูกต้อง เช่น เจตนาละเว้นจากการฆ่า โจรกรรม และการประพฤติผิดในกาม
                             (5) สัมมาอาชีวะ–การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง เช่น การเว้นจากมิจฉาชีพ การละเว้นจากอาชีพฆ่าสัตว์ อาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น
                             (6) สัมมาวายามะ–ความเพียรที่ถูกต้อง เช่น สัมมัปปธาน 4 คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
                             (7) สัมมาสติ—การมีสติที่ถูกต้อง เช่น สติปัฏฐาน 4
                             (8)สัมมาสมาธิ—การมีสมาธิที่ถูกต้อง เช่น รูปฌาน 4 (ที่มา: วิภังคสูตร),
               [3] การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา (เช่น สืบสานพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ได้แก่ พิธีกรรมทอดผ้าป่า พิธีกรรมวันเข้าและออกพรรษา พิธีกรรมวันวิสาขบูชา, วันมาฆบูชา, วันอาสาฬหบูชา พิธีกรรมวันอัฏฐมีบูชา พิธีกรรมทอดกฐิน ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีการถวายเทียนพรรษา ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ประเพณีการบวชนาค ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น (ที่มา: พิธีกรรมและประเพณี, กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม 2552) พุทธศาสนิกชนควรศึกษาและปฏิบัติพิธีเหล่านี้อย่างถูกต้องเหมาะสมและให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ช่วยกันปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาด้วยการเสริมสร้างความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่นในหมู่พุทธศาสนิกชนและช่วยเผยแผ่หลักธรรมอันบริสุทธิ์แสนประเสริฐขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การปฏิบัติตามนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้พุทธศาสนามัวหมองและดำรงอย่างมั่นคงต่อไปจนถึงพุทธศักราช 5000 ตามพุทธพยากรณ์อายุของพุทธศาสนาของพระองค์