thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ก้าวข้ามกำแพงศาสนาในโลกยุคใหม่ (ตอนที่ 2) โดย อ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ

ก้าวข้ามกำแพงศาสนาในโลกยุคใหม่ (ตอนที่ 2)

โดย อ.ดร.ไพเราะ มากเจริญ

               จากแนวคิดเรื่องการเกิดขึ้นของศาสนา ในปัจจุบัน ได้มีการตั้งคำถามถึงบทบาทของศาสนาว่ายังมีความจำเป็นอยุ่ไหมในสังคมทุกวันนี้ ..วันที่มนุษย์มีความรู้มากขึ้น ว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีระเบียบของมันเอง มนุษย์เริ่มมีอำนาจที่จะควบคุมธรรมชาติ มนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เรามีกฎหมายที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้ และเรามีระบบ รวมทั้งโอกาสต่างๆ มากมายที่ทำให้เราสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ทันที โดยไม่ต้องรอความหวังจากชาติหน้า
               หากย้อนกลับไปมองว่าศาสนาเกิดขึ้นด้วยเหตุใด การมีอยู่ของศาสนาก็ดูจะไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ประเด็นใหญ่ที่มักถูกยกมาอ้างถึงเพื่อตอบกลับความเชื่อเรื่องการไม่จำเป็นต้องมีศาสนาก็คือ เรื่อง ความดีและคนดี
 
บทความตอนนี้ จึงจะชวนเรามองสำรวจไปที่ศาสนาว่าความดีและคนดี เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร
 
               ทัศนคติและค่านิยมอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อก็คือ ทุกศาสนาสอนให้เราทำดี เมื่อเรามีการกระทำที่ดี เราจึงเป็น “คนดี” ดังตัวอย่างประโยคที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า”ทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี”
               แต่ทำไมศาสนาจึงกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงความดี และทำไมการทำตามหลักศาสนาจึงทำให้เราเป็นคนดี ปัญหานี้คือสิ่งสำคัญที่ทุกคนมักจะละเลยและนำไปสู่ความเข้าใจบางอย่างที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะชุดความคิดนี้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่า เป้าหมายของศาสนาคือการมุ่งให้ทุกคนเป็นคนดี การมีอยู่ของศาสนาจึงถูกนำไปยึดกับเรื่องความดีและคนดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การไม่มีศาสนาคือการสูญเสีย”ความดี” และสังคมอาจจะสูญเสีย “คนดี” ถ้าไม่มีศาสนา ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายอื่นๆ ตามมา
 
แล้วความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่
 
               หากเรามาลองเริ่มต้นกันใหม่ ว่าศาสนามีอยู่ทำไม ด้วยการลองเริ่มสำรวจคำสอนของศาสนาและความเชื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ เราจะเจอคำว่า “พ้นทุกข์” “ความสุขนิรันดร์” “พ้นจากโลก” “ความเป็นนิรันดร์” “การไปอยู่กับพระเจ้า” หรือคำอื่นๆ ที่มีความคล้ายคำเหล่านี้ในฐานะเป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องไปให้ถึงในหลายๆ ศาสนา
               คำเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เป้าหมายของศาสนารวมถึงความเชื่อต่างๆ แท้จริงแล้ว ไม่ใช่การสอนให้คนเป็น “คนดี” แต่เป้าหมายคือ การทำให้เรา “พ้นจากความทุกข์” “และได้เจอ “ความสุขที่ถาวร” ซึ่งแต่ละศาสนาจะมีนิยามและชื่อเรียก รวมทั้งคำอธิบายสถานะที่ “มนุษย์พ้นจากความทุกข์ จนมีความสุขที่ถาวร” แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะมีคำนิยามอย่างไร เราก็จะค้นพบว่า “สถานะที่มนุษย์พ้นจากทุกข์” ล้วนเป็นเป้าหมายของทุกศาสนา
               แต่การจะไปถึง “สถานะที่มนุษย์พ้นจากทุกข์” นั้น ศาสนาๆ ได้วางข้อกำหนด แนวทาง หรือคำสอนไว้ และข้อกำหนด แนวทาง หรือคำสอนเหล่านี้ “ส่วนใหญ่” จะเป็นสิ่งที่มนุษย์ “นิยาม” กันว่า เป็น “ความดี” เช่น การมีเมตตา การช่วยเหลือ การบริจาค การไม่ทำร้ายผู้อื่น ฯลฯ และนั่นทำให้ศาสนาถูกนำไปผูกยึดกับคำว่า “ความดี” จนสุดท้าย “ความดี” ก็กลับกลายมาเป็น เครื่องหมายของการมีศาสนา และภาพของคนที่ปฏิบัติตามหลักศาสนา จึงกลายเป็นสัญญลักษณ์ของ “คนดี” ในที่สุด
               เมื่อความดีถูกผูกติดกับศาสนา จึงทำให้คนส่วนใหญ่ เชื่อว่า ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี และเมื่อศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี เราจึงเห็นผู้คนพยายามนำเสนอ การทำความดีตามหลักศาสนาของตัวเอง ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ในปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าตนเองเป็น “คนดี” และนั่นยังนำมาสู่การใช้ศาสนาเป็นเครื่องปลดเปลื้อง ชำระล้าง สิ่งไม่ดีที่ตนเองเคยกระทำ เช่น นาย ก ขับรถชน นาย ข. เสียชีวิต นาย ก ก็อาจจะไปบวชเป็นพระเพื่ออุทิศให้นาย ข เป็นต้น
               จะเห็นว่าการที่ “ความดี” และ “คนดี” ถูกนำมายึดโยงว่าเป็นเป้าหมายของศาสนา เป็นชุดความคิดที่มีมานาน จนเราหลงลืมเป้าหมายของศาสนาที่แท้จริง หากเปรียบเทียบ “การทำความดี” ตามหลักศาสนา ก็คือ “เส้นทาง” แต่เป้าหมายของศาสนาไม่ใช่การเป็น “คนดี” เป้าหมายของศาสนาคือ “การพ้นจากความทุกข์ที่ถาวร” ต่างหาก ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ ส่งผลจนกลายเป็นวิวาทะในสังคมปัจจุบัน ระหว่างคนแต่ละรุ่น ความคิดแต่ละวัยและแต่ละความเชื่อ เพราะมีหลายคนเชื่อว่า คนไม่มีศาสนา คือ คนที่ไม่ดี เพราะไม่มีหลักของการ ทำดี
               แล้วสังคมจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อสังคมเกิดข้อขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวขึ้นมา บทความตอนที่ 3 เราจะมาพูดคุยกันต่อในเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่การสำรวจในทุกแง่มุม และก้าวข้ามกำแพงศาสนาในโลกยุคใหม่ อย่างเข้าใจไปด้วยกัน