thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ย้อนอดีตรุ่นบรรพบุรุษ กับเกร็ดความรู้เรื่องการปฏิบัติธรรม ตอน 3 บันทึกกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดย อ.ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล

ย้อนอดีตรุ่นบรรพบุรุษ กับเกร็ดความรู้เรื่องการปฏิบัติธรรม ตอน 3 บันทึกกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

โดย อ.ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล

               สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะหยิบยกตัวอย่างเรื่องราวของการปฏิบัติธรรม ที่น่าสนใจที่มีบันทึกในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อเป็นตัวอย่างเกร็ดความรู้ต่อยอดจากภาพรวมการปฏิบัติกรรมฐานแบบโบราณ ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายไปในสองตอนก่อนหน้านี้
               หนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในที่นี้ คือ สมุดข่อยซึ่งพบที่วัดรัชฏาธิฐานราชวิหาร (วัดเงิน) ในเขตธนบุรี ที่ชื่อว่า “พระตำรากรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี”
สมุดข่อยเล่มนี้เป็นบันทึกที่เขียนขึ้นในวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ. 2318
 
ตัวอย่างข้อความที่น่าสนใจในสมุดข่อยเล่มนี้ได้มีการบันทึกไว้ว่า
“เล็งดูพระธรรมพระพุทธเจ้า ตรงช่องแก้วชาติอุณาโลม ลงมานิ่งอยู่ก็จะเห็นพระธรรมพระพุทธเจ้า ในที่นั้นแล…
เจริญปัสสาสะ ขึ้นเบื้องซ้าย…
ดวงพระธรรมพระพุทธเจ้า จะขึ้นเบื้องซ้าย…
จึงขึ้นเบื้องขวา…อัสสาสะ ปัสสาสะ…เห็นพระธรรม”
(ไพโรจน์ โพธิไทร, 2528, น. 81-88)
               แม้ว่าข้อความสั้นๆ นี้ ทำให้เราเข้าใจข้อมูลเพียงเสี้ยวหนึ่งของขั้นตอนการปฏิบัติธรรม แต่ก็ทำให้เราพอเข้าใจภาพว่า เทคนิคการปฏิบัติธรรมแบบอานาปานสติ ตามแบบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จะกำหนดรู้ที่ลมหายใจเข้าออก ควบคู่ไปกับการเพ่งนิมิตดวงธรรม ซึ่งในบันทึกเล่มนี้ใช้คำว่า “ดวงพระธรรมพระพุทธเจ้า” หรือ “พระธรรม”
               ประโยคที่ว่า “เล็งดูพระธรรมพระพุทธเจ้า ตรงช่องแก้วชาติอุณาโลม” เป็นการบอกนัยว่าผู้ปฏิบัติจะเพ่งนิมิตดวงธรรมที่ฐานใดฐานหนึ่งของร่างกาย โดยในบันทึกยกตัวอย่างฐานที่อุณาโลมซึ่งเป็นจุดบริเวณบนหน้าผากที่อยู่ระหว่างคิ้ว
               ส่วนประโยคถัดๆ มาได้กล่าวถึงการกำหนดลมหายใจเข้า (อัสสาสะ) และลมหายใจออก (ปัสสาสะ) ซึ่งจะฝึกควบคู่ไปกับการเคลื่อนนิมิตดวงธรรมไปทางซ้าย และขวา สลับกันไป
 
ในบันทึกนี้มีการอธิบายการเพ่งนิมิตที่เพียงบริเวณเดียวคือที่ตำแหน่งอุณาโลม
ซึ่งถือเป็นฐานฐานหนึ่งในคำสอนการปฏิบัติธรรมของสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน ซึ่งกล่าวถึงฐาน 9 ฐานสำคัญที่มีการกำหนดนิมิต ได้แก่ กลางสะดือ จะงอยริมฝีปากบน ขื่อจมูก ปลายจมูก ระหว่างตาทั้งสอง ระหว่างคิ้วทั้งสอง กลางกระหม่อมจอมเพดาน
โคนลิ้นไก่ และหทัยวัตถุ (หัวใจ)
               ดังนั้นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ คือ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก การเห็นและการเคลื่อนนิมิต รวมถึงจุดที่เป็นฐานของใจ ถือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งต้องทำควบคู่กันไป ในการฝึกแบบอานาปานสติ ตามเทคนิคในบันทึกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
               ป.ล. สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สามารถอ่านต่อในเอกสารอ้างอิงตอนท้าย สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องกรรมฐานรูปแบบอื่นๆ ที่พบในอดีต ขอให้ติดตามอ่านในตอนต่อไป
 
เอกสารอ้างอิง
ไพโรจน์ โพธิไทร. 2528. “ปัจฉิมกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กับสมุดข่อยวัดรัชฏาธิษฐานราชวิหาร (วัดเงิน) ” วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 9 (กรกฏาคม พ.ศ. 2528). หน้า 81-88.
Cholvijarn, Potprecha. 2022. “Meditation Manual of King Taksin of Thonburi” Journal of Siam Society. 20 (1): 31-47.
Choompolpaisal, Phibul. 2021. “Boran Kammatthan (Ancient Theravāda) Meditation Transmissions from Late Ayutthaya to Rattanakosin periods” Buddhist Studies Review. 38 (2): 225-252.
Skilton, Andrew and Phibul Choompolpaisal. 2015. “The Ancient Theravāda Meditation System, Borān Kammaṭṭhāna: ānāpānasati in Kammatthan Majjima Baeb Lamdub.” Buddhist Studies Review. 32 (2): 207-229.