thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ศาสนาแห่งความเมตตาท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของราชอาณาจักรไทย โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

ศาสนาแห่งความเมตตาท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของราชอาณาจักรไทย

โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

               เป็นที่ทราบกันว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของราชอาณาจักรไทยหรือไฟใต้ (Southern Fire/Thailand’s southern insurgency) เริ่มก่อตัวตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบันปี 2565 ก็เป็นเวลากว่า 18 ปีแล้วที่ปัญหานี้ยังไม่ยุติ เหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายปล้นเอาปืนกว่าสี่ร้อยกระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หรือค่ายปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และมีการก่อเหตุความไม่สงบในหลายพื้นที่ตามมา เช่น ในอำเภอต่างๆในสามจังหวัดหลักชายแดนภาคใต้ของราชอาณาจักรไทย ที่จังหวัดนราธิวาสได้แก่ อำเภอเจาะไอร้อง, อำเภอบาเจาะ, อำเภอรือเสาะ, อำเภอระแงะ จังหวัดยะลาได้แก่ อำเภอเมือง, อำเภอรามัน, อำเภอบันนังสตา, อำเภอบันนังสตา จังหวัดปัตตานีได้แก่ อำเภอเมือง,อำเภอยะรัง, อำเภอหนองจิก, อำเภอสายบุรี เป็นต้น และยังมีบางพื้นที่ในจังหวัดสงขลา จนถึงปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบมีมากกว่า 7,000 คน บาดเจ็บกว่า 13,000 คน (ที่มา: Summary of Incidents in Southern Thailand, July 2020) จากการก่อเหตุความไม่สงบที่เต็มไปด้วยความรุนแรงโหดร้ายโดยผู้ก่อเหตุนิยมใช้ระเบิดในรูปแบบต่างๆ เช่น ในปี 2555 ที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลาเกิดมีคาร์บอมบ์ (car bomb) และ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ (motorcycle bomb) รวมถึงการวางระเบิดตามสถานที่ราชการและเอกชนต่างๆ เช่น โรงแรม (โรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า จังหวัดสงขลา) (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 1 เม.ย. 2555) ตลาด โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า วัด ธนาคาร เป็นต้น
               อะไรเป็นเหตุให้เกิดการก่อความไม่สงบ? หลายคนอาจมองว่าสาเหตุหลักมาจากความแตกต่างทางศาสนาระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามของประชาชนในจังหวัดดังกล่าวในข้างต้น แต่แท้จริงแล้วพบว่าความแตกต่างทางศาสนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ประเด็นหลักที่สำคัญคือ (1) ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนหัวรุนแรง (separatist violence) (สืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงปัจจัยอื่นที่สำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของภาครัฐไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และปัญหาเยาวชนใช้ยาเสพติด) (2) กลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายหลายประเภท เช่น กลุ่มลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษีจากประเทศใกล้เคียงข้ามชายแดนเข้ามา กลุ่มค้ายาเสพติดที่มีมาก่อน และกลุ่มค้าน้ำมันเถื่อนในบางพื้นที่
               จะเห็นได้ว่าความแตกต่างทางศาสนานั้นไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของความไม่สงบแต่ขบวนการณ์ก่อความไม่สงบมักนําศาสนามาเป็นข้อกล่าวอ้างและหลักคำสอนของศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาแห่งความเมตตาก็เน้นที่ (1) การสร้างความสงบของจิตใจไปจนถึงภาวะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนที่เรียกว่าพระนิพพาน (Nibbana/Nirvana) (ปรมัตถะ/ดับกิเลสและทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง) (2) การสร้างสันติภาพให้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งคน สัตว์ และสถานที่ (3) การไม่เบียดเบียนกันและความมีเมตตากรุณาต่อกัน (4) การให้อภัยกันที่เรียกว่าอโหสิกรรม และ (5) การฝึกสติ (mindfulness practice) เป็นต้น ดังนั้นพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จึงสามารถอยู่ร่วมกับคนที่นับถือศาสนาอื่นได้ด้วยดี เช่น วัดของชาวพุทธจึงอยู่ในพื้นที่ๆมีมุสลิมได้ พระสงฆ์จึงร่วมสานเสวนา (interfaith dialogue) กับผู้นำทางจิตวิญญาณมุสลิมได้ นอกจากนี้ยังมีการเสวนาและสัมมนาเกี่ยวกับศาสนาหลายครั้งเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกันในเรื่องความไม่สงบในภาคใต้ของไทยรวมถึงการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (peace talk) และการเจรจา (negotiation) เช่น ในปี 2554 มีการเสวนาเรื่อง “ศาสนา พลังแห่งสันติภาพกับความรุนแรงในชายแดนใต้” ที่จัดโดยคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมกิจการศาสนา และศาสนิกสัมพันธ์อาคารรัฐสภา, มีการสัมมนาเรื่อง “ศีลธรรมกลับมา โลกาสงบเย็น” ที่อาคารรัฐสภา (ที่มา: คณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปและวัฒนธรรม)
               สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยนั้น มีความสําคัญสำหรับองค์กรภาคประชาสังคม เช่น “ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายกลุ่มผู้สนับสนุน พร้อมกับเปิดช่องทางการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายทหาร หลีกเลี่ยงการสนับสนุนวาระทางการเมืองที่สืบทอดกันมาแต่เดิม ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองและการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีโดยชี้ให้เห็นถึงข้อกังวลและความต้องการของประชาชนในพื้นที่” (ที่มา: International Crisis Group (ICG) ประเทศไทย: วิวัฒนาการของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้) และผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่านอกเหนือจากการสานเสวนาและสัมมนาเกี่ยวกับศาสนาแล้ว การสร้างความเป็นธรรมทางการศึกษา, สังคมวัฒนธรรมและความเข้าใจที่ถูกต้องด้านประวัติศาสตร์ของพื้นที่ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้มาก
 
ข้อแนะนำ: ท่านที่สนใจติดตามเรื่องราวปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของราชอาณาจักรไทย ท่านสามารถอ่านได้จาก BBC Thailand / www.bbc.com/thai/thailand-56093774