thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนาฮินดู โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนาฮินดู

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ

               ศาสนาฮินดู หรือในเอกสารภาษาไทยนิยมใช้คำว่า ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่ถือกำเนิดในประเทศอินเดีย มีวิวัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์ จึงถือว่าศาสนาฮินดูมีวิวัฒนาการมายาวนานกว่า 4,000 ปี จากอดีตกว่าสี่พันปีจนถึงปัจจุบัน ปี 2022 ศาสนานี้ก็ยังดำรงอยู่ จึงนับได้ว่าเป็นศาสนาหลักที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ ประชากรชาวฮินดูทั่วโลกในปี 2563 มีประมาณ 1.2 พันล้านคน (ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากคริสต์และอิสลาม) ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวฮินดูเกือบ 1.1 พันล้านคนในอินเดีย และประมาณ 100 ล้านคนนอกอินเดีย
               ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่ไม่ประกาศว่า มีศาสดา หรือผู้หนึ่งผู้ใดเป็นศาสดา แต่เป็นการนับถือสืบทอดกันมานานมีฤๅษีและพราหมณ์เป็นผู้สั่งสอนและพัฒนาหลักคำสอนสืบต่อกันมา ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประเภทเทวนิยมเพราะยอมรับเรื่องเทพเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด โดยเทพเจ้าสูงสุด 3 องค์ได้แก่ 1. พระพรหม คือ เทพเจ้าผู้สร้างหรือให้กำเนิดทุกสิ่งในเอกภพขึ้นมา 2. พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ คือ เทพเจ้าผู้ปกป้องรักษา 3. พระอิศวร หรือพระศิวะ คือเทพเจ้าผู้ทำลาย เทพเจ้าทั้ง 3 องค์นี้รวมเรียกว่า “ตรีมูรติ” ที่เป็นเทพเจ้าสูงสุด แต่ชาวฮินดูยังนับถือเทพเจ้ารองๆ ลงมาอีกนับล้านองค์
 
คำสอนที่สำคัญของศาสนาฮินดูโดยสังเขป มีดังนี้
ปรมาตมัน หรือ พรหมัน คือ ผู้ให้ปฐมกำเนิดของสรรพสิ่ง เป็นอมตะ ไม่มีทุกข์ เป็นจุดมุ่งหมายที่พึงประสงค์ของชาวฮินดูที่ปรารถนาจะกลับไปรวมเป็นภาวะหนึ่งเดียวกับปรมาตมันนี้
โมกษะ คือภาวะหลุดพ้นจากการตายและเกิดใหม่ แล้วบรรลุภาวะเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมัน มีศานตินิรันดร
ปุรุษารถะ หมายถึง ประโยชน์ที่พึงประสงค์ในฐานะเป็นชาวฮินดู ประกอบด้วย 4 ประกการ ได้แก่ 1) อรรถ ได้แก่ การมีความรู้ ความสามารถ สามารถมีทรัพย์สินเงินทองดำรงตนอยู่อย่างมีความสุข 2) กาม หมายถึง การครองเรือน การมีครอบครัวที่มีความสุข 3) ธรรม หมายถึงการมีคุณธรรมนำชีวิตเพื่อการดำเนินชีวิตให้ดีงาม และ 4) โมกษะ หมายถึง การพ้นจากทุกข์ พ้นจากการตายและเกิดในภพชาติต่างๆ และไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมัน มีศานตินิรันดร
อาศรม หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมและคุ้มค่าความเป็นมนุษย์ในศาสนาฮินดู ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนของการดำเนินชีวิต ได้แก่ 1) พรหมจารี ในช่วง 25 ปีแรกของชีวิต เป็นช่วงวัยเด็กต้องทำหน้าที่ศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนความสามารถให้แก่ตนเอง 2) คฤหัสถ์ อยู่ในช่วงอายุ 25-50 ปี มีหน้าที่ประกอบอาชีพ ทำงาน สร้างฐานะ มีครอบครัว สร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตและแบ่งปันช่วยเหลือสังคมตามฐานะ 3) วานปรัสถ์ อยู่ในช่วงอายุ 50-75 ปี มีหน้าที่ในการเตรียมตัวแสวงหาคุณภาพชีวิตในทางจิตวิญญาณ โดยปล่อยวางภารกิจทางโลกให้ลูกหลานสานต่อ ส่วนตนเองมุ่งหาธรรมะ อุทิศตนสร้างประโยชน์ให้สังคม และ 4) สันยาสี อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป มีหน้าที่มุ่งสู่จุดหมายชีวิตขั้นสูงสุดคือบรรลุโมกษะ เพื่อรวมตัวตนคืออาตมันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมัน
ศาสนิกชนฮินดูที่เคร่งในศาสนาจะมีศรัทธาดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับหลักคำสอนเหล่านี้เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของชีวิตตามหลักศาสนาจนสุดความสามารถของตน