thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

พระไตรปิฎกบาลีฉบับอิเล็กทรอนิกส์ฉบับไทย โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล

พระไตรปิฎกบาลีฉบับอิเล็กทรอนิกส์ฉบับไทย

โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล

               เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเทคโนโลยีก้าวหน้ามีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จึงมีการจัดทำพระไตรปิฎกบาลีฉบับอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการตีพิมพ์ลงในกระดาษมาเป็นรูปแบบไฟล์ดิจิทัลหรือฐานข้อมูลที่ใช้งานผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซึ่งไม่เพียงแค่จัดทำเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์หรือไฟล์ pdf ที่เป็นรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แทนฉบับพิมพ์เท่านั้น แต่ในบางฉบับยังมีฟังก์ชันช่วยในการศึกษา ค้นหา และเปรียบเทียบกับฉบับอื่น ๆ รวมถึงฉบับแปลอีกด้วย จึงขอแนะนำตัวอย่างพระไตรปิฎกบาลีฉบับอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของพระไตรปิฎกฉบับอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ฐานข้อมูลของพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ภาษาบาลีและภาษาไทยของประเทศไทย
               1. BUDSIR (https://www.mahidol.ac.th/budsir/budsir-main.html) ในยุคเริ่มต้นมีโครงงานในความดูแลของสำนักคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้ข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เริ่มโครงงานเมื่อ พ.ศ. 2530 เสร็จออกเผยแพร่เป็น BUDSIR I เมื่อพ.ศ. 2531 แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากโปรแกรม BUDSIR I เป็นพระไตรปิฎกบาลีตัวอักษรไทยทำให้ยังไม่แพร่หลายในระดับนานาประเทศ จึงมีการพัฒนาโครงการต่อเป็นโปรแกรม BUDSIR II ซึ่งสามารถแปลงเนื้อหาเป็นตัวอักษรโรมัน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาความสามารถในการค้นคำ ตลอดจนมีการขยายขอบเขตไปถึงเนื้อหาในอรรถกถาอีกด้วย โดยมีการเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลในพระไตรปิฎกและอรรถกถาไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน และมีการแปลงข้อมูลทั้งหมดเป็นอักษรโรมัน และมีการเก็บบันทึกในรูปแบบ CD-ROM โดยแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2537 และถูกนำมาใช้ในรูปแบบ CD-ROM และโปรแกรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา
               2. เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน E-tipitaka (https://etipitaka.com/) E-Tipitaka เน้นพระไตรปิฎกฉบับหลักของไทย โดยใช้ฐานข้อมูลจากพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามกุฏฯ และพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาฯ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และรูปแบบแอปพลิเคชันจึงสะดวกและใช้งานได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการเทียบเคียงพระไตรปิฎกไทยฉบับต่าง ๆ ในหน้าเดียวกันถือเป็นจุดเด่นสำคัญของพระไตรปิฎกบาลีฉบับอิเล็กทรอนิกส์นี้
               3. เว็บไซต์ 84000 (https://84000.org/) เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมพระไตรปิฎกฉบับหลักของไทย โดยมีทั้งที่แสดงในรูปแบบสารบัญหัวข้อย่อยที่สามารถคลิกเลือกหัวข้อที่สนใจแล้วเชื่อมต่อเข้าไปอ่านเนื้อหาของพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ ได้ ทำให้การหาตำแหน่งอ้างอิงในกรณีเล่มพระไตรปิฎกที่มีหลายนิบาตหรือส่วนย่อยอยู่ภายในเล่มเดียวกันทำได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังมีฟังก์ชันค้นหาตำแหน่งของเนื้อหาในระดับเล่ม/ข้อ/หน้า/บรรทัด ค้นพระไตรปิฎกจากข้อความ ชื่อพระสูตร ตลอดจนสามารถสืบค้นได้ถึงคัมภีร์ชั้นอรรถกถา โดยใช้ฐานข้อมูลจากพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามกุฏฯ และพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาฯ รวมทั้งอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทยและฉบับแปลไทยอธิบายเนื้อความในพระไตรปิฎก นอกจากนี้ยังมีพระไตรปิฎกและอรรถกถาภาษาบาลีอักษรโรมัน ใส่ไว้ให้สามารถเทียบเคียงกับฉบับอักษรไทย ตลอดจนมีฐานข้อมูลพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ และฉบับประมวลธรรมสำหรับค้นหาคำศัพท์ได้อีกด้วย
               นอกจากตัวอย่างพระไตรปิฎกฉบับอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ยกขึ้นมาในข้างต้นแล้ว ยังมีพระไตรปิฎกบาลีฉบับอิเล็กทรอนิกส์ฉบับไทยที่จัดทำโดยหน่วยงานต่าง ๆ อีกหลายฉบับ เช่น พระไตรปิฎกฉบับประชาชน (http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/) ที่สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลโดยสรุปของพระไตรปิฎกแต่ละเล่มได้, เว็บไซต์ The Path of Purity (https://www.thepathofpurity.com) ที่สามารถเข้าไปดาวน์โหลดพระไตรปิฎกฉบับไทยที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ pdf, เว็บไซต์ TRIPITAKA91 (http://www.tripitaka91.com/index.php) พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล มมร. 91 เล่ม เป็นต้น เพื่อสะดวกต่อการเข้าไปทดลองใช้งาน ดังต่อไปนี้
1. https://etipitaka.com/search/ (ค้นหาเทียบเคียงพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ)
2. http://84000.org/ (ค้นหาเทียบเคียงพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ)
3. http://www.tripitaka91.com/index.php (พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล มมร. 91 เล่ม)
4. http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/ (พระไตรปิฎกฉบับประชาชน)
5. https://tripitaka-online.blogspot.com/2016/09/tpd-main.html (พระไตรปิฎกแปลภาษาไทย มจร. 45 เล่ม)
6. https://www.thepathofpurity.com/home (ดาวน์โหลดพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ ไฟล์ pdf)
ข้อมูลบางส่วนจาก : “พระไตรปิฎกฉบับอิเล็กทรอนิกส์” เรื่องเล่าพระไตรปิฎก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์