thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

พุทธศิลป์ในงานจิตรกรรมฝาผนัง โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

พุทธศิลป์ในงานจิตรกรรมฝาผนัง

โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

               พุทธศาสนามีสิ่งที่งดงามแฝงอยู่หลายอย่างนอกเหนือจากมรรคผลนิพพานตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอน หนึ่งในความงดงามนั้นก็คือพุทธศิลป์ซึ่งมีหลายประเภท อะไรคือพุทธศิลป์? “พุทธศิลป์เป็นงานศิลปะ เป็นศิลปกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองตอบและรับใช้งานทางด้านพระพุทธศาสนาโดยตรงทั้งในด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นความงาม เพื่อความพอใจที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาธรรมทางวัตถุถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา…” (ที่มา: พุทธศิลป์: ถิ่นไทย ศิลปกรรมเพื่อพระพุทธศาสนา) ในบทความนี้ผู้เขียนจะอธิบายเฉพาะพุทธศิลป์ในงานจิตรกรรมฝาผนังที่สามารถพบเห็นได้ตามวัดวาอารามทั่วราชอาณาจักรไทย เวลาที่ท่านไปทำบุญตามวัดต่างๆ ถ้าให้ท่านเลือกชมระหว่างฝาผนังปูนโล่งๆ ในอุโบสถหรือวิหารกับภาพพุทธศิลป์ที่มีสีสรรค์ที่งดงามเต็มฝาผนังทุกด้าน ท่านอยากจะดูฝาผนังแบบไหน? แน่นอนว่างานจิตรกรรมที่งดงามย่อมน่าสนใจกว่า เพราะนอกจากความสวยงามที่ผ่านกาลเวลามานานๆแล้วยังให้ความรู้ทางพุทธศาสนาอีกด้วย เช่น ภาพวาดชาดกต่างๆที่เป็นเรื่องราวของพระพุทธองค์ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีมาจนถึงตอนที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ชาดกที่นิยมวาดกันมากมาตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อนจนถึงปัจจุบันก็มีหลายเรื่อง เช่น ที่เกี่ยวกับทศชาติหรือสิบชาติสุดท้ายก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เช่น พระมหาชนกตอนเรือแตก พระสุวรรณสามตอนถูกศรยิง เป็นต้น ภาพต่างๆนั้นจะเป็นเรื่องราวที่ให้ความรู้ทางพุทธศาสนาแก่ผู้พบเห็นทั้งเยาวชนไปจนถึงผู้สูงอายุ หลายคนได้ชมภาพพุทธศิลป์แล้วเกิดศรัทธาในพุทธศาสนาก็มีไม่น้อยทั้งๆที่ก่อนชมภาพก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก หลายคนเกิดปัญญาในทางพุทธศาสนา เช่น ชื่นชมและศรัทธาในการบําเพ็ญบารมีธรรมของพระพุทธเจ้าและอยากจะสร้างบุญกุศลต่างๆมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นบุญวาสนาที่ได้เคยสร้างไว้ในกาลก่อน เมื่อมาเห็นภาพพุทธศิลป์จึงเกิดศรัทธาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว นอกจากภาพชาดกแล้วก็ยังมีภาพพุทธประวัติคือเรื่องราวของพระพุทธองค์ตั้งแต่ตอนที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เสด็จไปห้ามพระญาติที่ทะเลาะกันซึ่งเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ตอนที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ที่ทรงแสดงเป็นคู่ๆ เช่น ทรงใช้อาโปกสิณ (กสิณน้ำ) และ เตโชกสิณ (กสินไฟ) ประกอบทําให้เกิดเป็นท่อน้ำท่อไฟพุ่งออกมาจากพระวรกายเป็นคู่ๆพร้อมทรงแผ่ฉัพพรรณรังสีที่งดงามตระการตา ตอนที่แสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าและเกิดพระสาวกคนแรกคือพระอัญญาโกณฑัญญะที่ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) ขั้นต้นเป็นพระโสดาบันคนแรกในพุทธศาสนา ซึ่งเรียกว่าวันนั้นเป็นวันอาสาฬหบูชาของพุทธศาสนิกชนและในกาลต่อมาพระอัญญาโกณฑัญญะอุปสมบทและได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์สาวก เหตุการณ์สําคัญต่างๆในชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกนำมาถ่ายทอดผ่านงานจิตรกรรมที่เปี่ยมด้วยคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ ส่วนความงดงามของภาพก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของจิตรกรหรือช่างเขียนแต่ละคนที่มีตั้งแต่ฝีมือแบบธรรมดาๆไปจนถึงระดับปรมาจารย์
               ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยไปงานทอดกฐินและได้ดูช่างเขียนวาดภาพพุทธประวัติในอุโบสถที่ปฏิสังขรณ์ใหม่ที่วัดเพลงวิปัสสนา, กรุงเทพ วัดนี้เป็นวัดราษฏร์เก่าแก่สร้างมาเกือบสองร้อยปีแล้ว คือสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้เขียนยังพอจำได้ว่าฝาผนังด้านซ้ายและขวามีภาพวาดฝาผนังละสามแถว แถวละมากกว่าหกภาพ ผู้เขียนชอบภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ เห็นภาพแล้วรู้สึกทึ่งในฝีแปรงที่ละเอียด ลายเส้นที่คมชัด สีที่กลมกลืนกับองค์ประกอบต่างๆของภาพ เรื่องสีนี้สําคัญมากเพราะทำให้ภาพมีความสวยงามมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อนํามาคู่กับการปิดทองคําเปลว “สีสันของจิตรกรรมฝาผนังก็น่าสนุกไม่แพ้กัน เมื่อลองหลับตาจินตนาการเล่นๆ สวรรค์ในภาพจำของเรามักเป็นสีขาวสว่างไสว แต่สวรรค์บนผนังโบสถ์ไทยมักใช้สีแดงมาระบายเป็นพื้นหลัง เพราะเป็นทั้งสีมงคล ดูศักดิ์สิทธิ์ แถมยังขับให้ทองที่ปิดทับลงไปดูเปล่งประกายสวยงามยิ่งขึ้นด้วย” (ที่มา: จักรพงษ์ คำบุญเรือง, Chiangmainews) ภาพแต่ละภาพกว่าจะวาดได้ใช้เวลาหลายเดือน อย่างที่วัดเพลงวิปัสสนา ช่างเขียนบอกว่าบางวัดต้องการให้วาดภาพเดี่ยวใหญ่เต็มฝาซึ่งต้องใช้เวลาวาดเป็นปีๆก็เคยมี ดังนั้นการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังจึงเป็นงานที่ใช้เวลาและความอดทนมากเพราะต้องการความปราณีตและละเอียดโดยเฉพาะลายไทยที่มีรายละเอียด (detail) มาก ท่านเชื่อหรือไม่ว่าภาพพุทธศิลป์บางวัดใช้เวลาวาดนานเป็นสิบปีโดยงานชิ้นใหญ่มากๆนี้จำเป็นต้องมีครูช่าง (technician teacher) ซึ่งเป็นนายงานของการเขียนภาพเริ่มตั้งแต่เป็นผู้วางโครงการของงานทั้งหมดและมีช่างเขียนที่เป็นลูกมือช่วยอยู่หลายคน หน้าที่ของครูช่างอีกอย่างคือต้องสอนลูกศิษย์เพื่อสืบทอดวิชาความรู้ให้สามารถทำงานแทนตนได้จนกว่างานจะเสร็จสมบูรณ์ ไม่มีครูช่างก็ไม่มีงานที่สมบูรณ์แบบเป็นงานชิ้นเอก (masterpiece) ออกมาให้ชาวโลกได้เห็น นอกจากนี้ครูช่างยังถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและคุณธรรมไปยังลูกศิษย์อีกด้วย ลูกศิษย์เองก็มีความกตัญญูต่อครูช่างเพราะได้เรียนวิชาความรู้จากท่าน สิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมไทยที่งดงามไม่แพ้งานพุทธศิลป์เลยทีเดียว