thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

เด็กกับการบรรลุธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก โดย อาจารย์บุญมี พวงเพชร

เด็กกับการบรรลุธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

โดย อาจารย์บุญมี พวงเพชร

               คำสอนของพุทธศาสนาไม่ได้มีไว้เฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น เด็กและวัยรุ่นก็สามารถที่จะเข้าถึงธรรมได้เช่นเดียวกัน ดังที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก เช่น สุตตันตปิฎก ขุททกิกาย อปทาน (๓๒/๖๘-๘๕), สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา (๒๖/๓๖๕-๓๖๙), และ ในสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค (๑๖/๕๙๙-๖๑๙) เป็นต้น ที่ได้กล่าวถึงสามเณรที่สามารถบรรลุธรรมถึงขั้นเป็นอรหันต์ได้ นอกจากนั้นยังมีพระสูตรอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ได้กล่าวถึงเด็กที่มีอายุเพียง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๗ ปีบ้าง บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
               จากหลักฐานที่ปรากฎในพระไตรปิฎกทำให้เห็นว่าเด็กมีคุณสมบัติที่จะบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถบรรลุเป็นอรหันต์ได้มีอายุเพียง ๔ ขวบเท่านั้นชื่อ เอกทีปิยะ ดังที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน (เอกทีปิยเถราปทาน) ซึ่งในอดีตชาติท่านเอกทีปิยะ ได้บูชาจิตกาธานของพระพุทธเจ้าด้วยการจุดประทีปให้ลุกโพลงตลอดทั้งคืน ด้วยบุญนั้น หลังจากท่านเสียชีวิตจึงทำให้ท่านได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๗๗ ชาติ และเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ อีก ๓๑ ชาติ ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๘ ชาติ หลังจากนั้นก็ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก เมื่ออายุได้ ๔ ขวบ ก็ได้ออกบวชเป็นบรรพชิต และยังไม่ถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
               คุณสมบัติของจิตที่บรรลุธรรมในขณะที่ยังเป็นเด็กไม่ได้มีความแตกต่างจากการบรรลุธรรมของผู้ใหญ่หรือการบรรลุธรรมของคนทั่วไปเลย จิตของผู้บรรลุธรรมย่อมมีความสงบสุขและหมดสิ้นกิเลสอย่างสิ้นเชิง เด็กบางคนนอกจากบรรลุเป็นอรหันต์แล้วก็ยังได้อภิญญาเพิ่มเข้ามาอีกด้วย เช่น สามเณรสังกิจจะ ลูกศิษย์ของพระสารีบุตร ที่ได้แสดงปาฏิหาริย์ จากการที่โจรจับท่านไปและใช้มีดฟันตามที่ต่างๆ แต่ก็ฟันไม่เข้า ทำให้โจรเลื่อมใสศรัทธา ละทิ้งความเป็นโจรแล้วตามท่านออกบวช เป็นต้น หากวิเคราะห์พระสูตรที่บันทึกเกี่ยวเด็กที่บรรลุธรรม ก็สามารถที่จะกล่าวได้ว่า การบรรลุธรรมของเด็กนั้นมีเหตุปัจจัยสี่ประการคือ คุณงามความดีที่ทำไว้ในอดีตชาติ ซึ่งเป็นกรรมดีที่เกื้อหนุนให้มาเกิดในภพภูมิที่ดี หรือ ให้ได้มาเกิดพบครูอาจารย์ที่ดีคอยอบรมสั่งสอนจนกระทั่งสามารถบรรลุธรรมได้ ปัจจัยที่สองคือความตั้งใจ ความใส่ใจเรียนรู้ธรรมะและตั้งใจในการปฏิบัติธรรมของเด็กเอง ปัจจัยที่สามคือสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวจการต่อการเรียนรู้และการปฏิบัติธรรมของเด็กซึ่งมีส่วนช่วยเหล่อหลอมจิตใจและพฤติกรรมให้ดีงามยิ่งขึ้น และปัจจัยที่สี่คือวิธีการอบรมสั่งสอนที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน ซึ่งต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเด็ก ทำให้เด็กเข้าใจธรรมะและตรัสรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งสี่เหตุปัจจัยนี้เกื้อหนุนกันและกันในการเรียนรู้และการเข้าถึงธรรมของเด็กจนสามารถบรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุดคือความเป็นพระอรหันต์
               การบรรลุธรรมของเด็กที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานที่สำคัญสำหรับเป็นแนวทางในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียนระดับประถม มัธยม และระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ควรหันมาพิจารณาถึงเหตุปัจจัยและวิธีการสอนในพระไตรปิฎกที่ทำให้เด็กสามารถบรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุดได้ แล้วนำแนวทางเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ซึ่งอาจจะทำให้การเรียนการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กในปัจจุบันประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น