thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ: ปรากฏการณ์สำคัญมหัศจรรย์แห่งพุทธศาสนา โดย ผศ. สุทธพร รัตนกุล

พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ: ปรากฏการณ์สำคัญมหัศจรรย์แห่งพุทธศาสนา

ผศ. สุทธพร รัตนกุล

พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ทราบว่าพระบรมสารีริกธาตุหรือพระบรมธาตุคือพระอัฐิของพระพุทธเจ้าและพระธาตุคืออัฐิของพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ความเข้าใจนี้ถูกต้องแล้วแต่ไม่ทั้งหมดเพราะพระบรมสารีริกธาตุไม่ได้หมายถึงส่วนที่เป็นพระอัฐิแต่เพียงอย่างเดียว อย่างเช่น กระดูกหน้าอกคือพระอุรังคธาตุ ฟันเขี้ยวคือพระทาฐธาตุ/พระทันตธาตุ (พระธาตุเขี้ยวแก้วมี 4 องค์) แต่หมายรวมถึงทุกส่วนที่มาจากพระวรกายของ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น เลือดคือพระโลหิตธาตุ เล้นผมคือพระเกศาธาตุ เป็นต้น ส่วนพระธาตุของพระอรหันต์สาวกก็เป็นเช่นเดียวกันคือมาจากทุกส่วนของร่างกายของพระอรหันต์แต่ละองค์ ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ได้อธิษฐานให้ส่วนต่างๆของพระวรกายเป็นพระบรมสารีริกธาตุและแตกย่อยกระจายไปทั่ว (วิปฺปกิณฺณาธาตุ) เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วพระบรมสารีริกธาตุจึงเกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน มีบันทึกในคัมภีร์ปฐมสมันตาปาสาทิกา อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ว่ารวมจำนวนได้มากถึง 16 ทะนาน (20 ทะนานเท่ากับ 1 ถัง/ 1 ทะนานเท่ากับ 8 ฟายมือ/อุ้งมือ) ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นชิ้นคือไม่ได้แตกย่อยละเอียดลงไป (นวิปฺปกิณฺณาธาตุ) มีเพียง 7 องค์ ได้แก่ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) 1องค์ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 องค์ พระอรหันต์สาวกก็เช่นเดียวกันก่อนที่มรณภาพ (นิพพาน) อาจอธิษฐานให้พระธาตุเกิดในลักษณะต่างๆซึ่งก็แล้วแต่ความปรารถนาของพระอรหันต์องค์นั้นๆ พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนได้ให้ความเคารพนับถือและสักการะบูชากันมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลากว่าสองพันห้าร้อยปีจนถึงปัจจุบัน เพราะพระบรมสารีริกธาตุเป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและการดำรงอยู่ของพุทธศาสนา ส่วนพระธาตุก็เป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์เช่นกันเพราะเป็นเครื่องยืนยันถึงมรรคผลนิพพานที่มีอยู่จริงจนถึงปัจจุบัน พระธาตุก็เกิดจากความบริสุทธิ์ของจิตพระอรหันต์แต่ละองค์ ผู้ที่ปฎิบัติธรรมตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนหรือตามที่พระอรหันต์สาวกสอนก็สามารถถึงมรรคผลนิพพานได้ตามวาสนาบารมีของตน
.
พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุถูกเก็บรักษาไว้ที่ธาตุเจดีย์/พระธาตุเจดีย์/พระบรมธาตุ/พระมหาธาตุ เช่น ในประเทศไทยได้มีการสร้างพระธาตุเจดีย์สำคัญๆ มากมายทั่วประเทศ เช่น พระปฐมเจดีย์ที่จังหวัดนครปฐม พระธาตุพนมที่จังหวัดนครพนม พระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร พระบรมธาตุสวีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบรมธาตุไชยาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุมีบทบาทสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก เช่น ประเพณีตามจังหวัดต่างๆ มักจะนำพระบรมสารีริกธาตุเป็นสื่อนำการบำเพ็ญประเพณี เช่น ประเพณีขึ้นพระธาตุ ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น แม้ในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ เช่น ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็มีการนำพระบรมสารีริกธาตุไปร่วมสมโภชด้วย เช่น ดังปรากฏใน ตอนหนึ่งว่า “ถึง ณ วันเสาร์ เดือน 6 ขึ้น 5 ค่ำ เชิญพระบรมสารีริกธาตุแต่ในพระบรมมหาราชวังตั้งกระบวนแห่ออกไปยังพระเมรุมาศ ประดิษฐานพระเบญจาทอง พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม เปรียญฝ่ายคามวาสี อรัญวาสี 80 รูป เจริญพระพุทธมนต์ มีหนัง จุดดอกไม้เพลิง เป็นการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุวันหนึ่งคืนหนึ่ง…เวลาบ่ายทิ้งทานเวลาค่ำ จึงแห่พระบรมสารีริกธาตุกลับเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง” (ที่มา: พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2) จะเห็นได้ว่างานพระราชพิธีต่างๆมักมีการนำพระบรมสารีริกธาตุไปร่วมสมโภชด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือแม้ในงานมงคลต่างๆ เช่น งานผ้าป่า งานทอดกฐิน เป็นต้น
.
เมื่อองค์สมเด็จพระประทีปแก้วเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วผู้ประสงค์จะเห็นพระบรมสารีริกธาตุขอให้อธิษฐานจิตบำเพ็ญทานตามกําลัง รักษาศีลตามเพศของตน เช่น ฆราวาสมีศีล 5 เป็นต้น เจริญจิตตภาวนาเป็นปรกติและกล่าวคำอธิษฐานขอให้พระบรมสารีริกธาตุเสด็จลงมาในภาชนะหรือสถานที่ๆเหมาะสมซึ่งจัดเตรียมเอาไว้ เมื่อบุญวาสนาของท่านถึงขั้น พระบรมสารีริกธาตุก็จะเสด็จมาเองตามที่ปรารถนาด้วยพุทธานุภาพ และสามารถเพิ่มจํานวนเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันๆองค์ได้ บางครั้งก็เปล่งแสงสว่างหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะได้และอื่นๆ เช่น ลอยน้ำได้ แต่ถ้าประพฤติไม่ดีพระบรมสารีริกธาตุก็จะไม่เสด็จมาหรือที่เคยมีอยู่ก็จะเสด็จหายไปเหมือนตอนที่เสด็จมาโดยที่ไม่มีใครทราบว่ามาจากที่ไหนและหายไปไหน พระบรมสารีริกธาตุจะอยู่กับบุคคลหรือสถานที่ๆคู่ควรเท่านั้น และทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์สำคัญมหัศจรรย์แห่งพุทธศาสนา