thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

พุทธศาสนาสีเขียว: กระแสหลักความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยร่วมสมัย

พุทธศาสนาสีเขียว: กระแสหลักความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยร่วมสมัย
Green Buddhism: The Mainstream of Environmental Accountability in the Contemporary Thai Society
     พุทธศาสนาสีเขียว หรือ Green Buddhism มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ในการช่วยปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อให้พวกเราทุกคนช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะปัญหาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของโลก ที่มนุษย์ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข ที่สำคัญก็คือ หลักคำสอนและหลักการปฏิบัติที่พุทธศาสนาได้นำมาใช้นั้น ไม่ใช่แค่พัฒนาสิ่งแวดล้อมภายนอกเท่านั้น พุทธศาสนายังสอนให้คนพัฒนาภายใน คือ จิตใจของมนุษย์ ให้มีความดีงามควบคู่ไปด้วย บนพื้นฐานหลักการของ การทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น
     ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทุกภูมิภาคของโลกกำลังเผชิญกับปัญหาของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในบริบทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี 3 ประเด็นหลักที่สำคัญคือ ความเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การขาดความเป็นธรรมในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากร และการบริโภคทรัพยากรเกินความสามารถที่ธรรมชาติจะรองรับได้ (วินัย วีระวัฒนานนท์: 2546) เมื่อธรรมชาติถูกทำลายและเกิดผลกระทบ คนก็เริ่มเห็นปัญหา แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขจัดการ หรือพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมโดยอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การคำนวณราคาทรัพยากรเพื่อสะท้อนต้นทุนทรัพยากรที่แท้จริงให้สูงขึ้น แต่ไม่มีใครที่มองปัญหาให้ลึกซึ้งลงไปว่า แท้จริงแล้วรากเหง้าของปัญหามาจากความไม่รู้จักพอโดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ขาดการพัฒนาทางคุณธรรมและปัญญา จึงพยายามกระทำสิ่งต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสุดท้ายกลับมากระทบที่ตนเอง ซึ่งปัญหาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาหนึ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์แก่มนุษย์ จะเห็นได้ว่ามนุษย์ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมนี้อย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้น เช่น อุทกภัย วาตภัย และแผ่นดินไหว เป็นต้น โดยปัญหาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจากตัวมนุษย์เองที่พัฒนาสิ่งต่างๆให้มีความทันสมัยโดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราว่าจะถูกทำลายหรือไม่ โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไปเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนั้นตามหลักการทางพุทธศาสนาทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์กัน เหมือนประโยคที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” (pick a flower on Earth and you move the farthest star) ซึ่งหมายถึง หากเมื่อเราทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับตัวของมนุษย์มากด้วยเช่นกัน พุทธศาสนาสีเขียวจึงเข้ามามีบทบาทในสังคม เพราะช่วยส่งเสริมให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และช่วยกันหาวิธีการแก้ไขปัญหา
     จากปัญหาวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกๆปี ทำให้ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสพยายามสร้างเครือข่ายในการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้เป็นหลักในการทำความเข้าใจธรรมชาติ เพื่อที่จะนำมาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ขบวนการที่ทำให้เกิดพุทธศาสนาสีเขียวในประเทศไทย และเกิดเป็นแหล่งของโครงการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลอย่างมากมาย ก็คือ การริเริ่มโครงการความเข้าใจธรรมชาติของชาวพุทธ (The Buddhist Perception of Nature Project) โดยมุ่งเน้นการสอนในหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบเก่า ให้กับคนที่อยู่แถบชนบทและในเมือง ซึ่งในเวลาต่อมาในปี 1985 จึงนำไปสู่การก่อตั้ง เครือข่ายชาวพุทธระหว่างประเทศ (The International Network of Engaged Buddhist – INEB) โดย ส.ศิวรักษ์ ได้เสนอว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด โดยเน้นไปที่โลกที่สาม คือในชนบทของประเทศไทย ดังนั้นพระสงฆ์ผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดีในเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงได้ช่วยกันรักษาป่าโดยวิธีการ “บวชต้นไม้” ชาวบ้านจึงไม่กล้าตัดต้นไม้ที่มีสัญลักษณ์ว่าบวชแล้ว
     ถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องช่วยกันปกป้องโลกนี้เอาไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองและเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ จึงทำให้เราสามารถมองเห็นได้ถึงการปรับตัวของมนุษย์ อย่างเช่น การปรับของอุตสาหกรรมให้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป หรือการผลิตสินค้าต่างๆให้ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นเพียงการพัฒนาเฉพาะภายนอกเท่านั้น ดังนั้นการพัฒนาที่ยังยืนจึงต้องพัฒนาจิตใจของมนุษย์ควบคู่กันไป ดังจะเห็นได้จากการดำเนินกิจกรรมพุทธศาสนาสีเขียวในปะเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการ พัฒนาที่ยั่งยืนแนวพุทธที่เน้นการพัฒนาคน โดยพัฒนาตัวคนที่เป็นปัจจัยตัวกระทำ ให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ด้วยการพัฒนาตัวคนเต็มทั้งระบบ คือ ครบทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เพื่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนขึ้น ดังนั้นแนวทางพุทธศาสนาสีเขียว จึงนับได้ว่าเป็นแนวคิดร่วมสมัยที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั่วทุกมุมโลก และหากนำมาบูรณาการร่วมกับแนวคิดการพัฒนากระแสหลัก และภูมิปัญญาของพุทธศาสนิกชน ก็จะสามารถนำไปสู่จุดที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้ในที่สุด