thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

 พระพุทธศาสานากับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ

         พระพุทธศาสานากับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ

           องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้นิยามผู้สูงอายุว่าคือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และได้กำหนดเกณฑ์วัดสังคมผู้สูงอายุไว้ว่า จำนวนผู้สูงอายุ ในประเทศใดมีสัดส่วนเกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ประเทศนั้นจัดว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 14

.

            ประเทศไทยถือได้ว่า เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เพราะตามรายงานของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ในปี 2563 มีจำนวนผู้สูงอายุที่ร้อยละ 17.57 และในปี 2565 คงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หากมีจำนวนเพิ่มถึงร้อยละ 20 ซึ่งแนวโน้มเป็นไปได้มาก

.

            ต่อสถานการณ์ดังกล่าว หากนำมุมมองจากพระพุทธศาสนาเข้ามาร่วมพิจารณาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จะพบว่า หากมองในทางกายภาพ ในประเทศไทยมีวัดกว่าสี่หมื่นวัด สามารถใช้เป็นสถานที่สังคมสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุได้โดยได้รับนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ หากมองพุทธศาสนาในแง่พุทธธรรมจะพบว่ามีองค์ความรู้จำนวนมากที่สามารถนำมาอธิบาย ตีความ ประยุกต์เป็นแนวคิด แนวทาง หลักการ ในการดูแลผู้สูงอายุได้ และน่าจะมีความเหมาะสมมากต่อผู้สูงอายุในแง่ที่ว่า ผู้สูงอายุที่เป็นชาวพุทธ ผู้สูงอายุอยู่ในวัยที่มีจิตใจโน้มเข้าหาหลักธรรมทางศาสนาได้มากกว่าวัยอื่นเพราะผ่านประสบการณ์ในการใช้ชีวิตจนเกิดความรู้และเข้าใจในธรรมดาของชีวิตมาแล้ว จึงหวังแสวงหาความสงบทางจิตใจ แสวงหาความต้องการทางจิตวิญญาณ บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม หากเทียบกับระบบการดำเนินชีวิตที่เรียกว่า อาศรม ในศาสนาฮินดูก็เทียบกับวัยสูงอายุอยู่ในอาศรมที่เรียกว่า วานปรัสถ์  คือผู้ที่ปล่อยวางธุรกิจการงานให้แก่ทายาท ส่วนตนเองแสวงหาธรรม บำเพ็ญความดีต่อสาธรณชน

.

            ในบทความสั้นๆ นี้ ผู้เขียน ขออ้างอิงพุทธพจน์ความว่า “…ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทําอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทําแล้วและทําตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา”  ( องฺ.ทุก., 33/278/357-358) ในพุทธพจน์นี้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแนวทางให้บุตรธิดารู้ว่าควรดูแลมาดาบิดาแบบใดจึงจะถือว่าตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาได้ กล่าวคือพระพุทธองค์แนะนำให้ตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาด้วยการดูแลท่านไม่ใช่แค่ทางร่างกาย เช่น อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่ และอื่นๆ แน่นอนสิ่งเหล่านี้ย่อมขาดไม่ได้ แต่หากจะดียิ่งกว่านี้ก็คือการที่บุตรสามารถช่วยส่งเสริมให้มารดาบิดาให้อยู่ในศีลในธรรม เช่น ตามหลักธรรม 4 ข้อ ดังกล่าว ได้แก่ การมีศรัทธาในพระรัตนตรัย (ศรัทธาสัมปทา) การมีศีล (ศีลสัมปทา) การปล่อยวางรวมถึงการให้ทาน (จาคสัมปทา) และ การเข้าใจในความเป็นธรรมดาของโลกและชีวิต (ปัญญาสัมปทา) เหตุผลตามที่ผู้เขียนเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้ ก็สอดคล้องกับหลักกรรม หลักตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน หลักกรรมวาทีและวิริยวาที ของพระพุทธศาสนานั่นเอง กล่าวคือ การที่บุตรดูแลมารดาบิดาในทางร่างกาย เช่น ให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ มีประโยชน์มากในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อท่านละโลกนี้ไปท่านไม่สามารถนำอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เหล่านี้ไปด้วยได้เลย แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึงนำติดไปด้วยได้คือ กรรม ที่เกิดจาก การมีศรัทธา มีศีล มีจาคะ และปัญญา กรรมดีเหล่านี้จะเป็นที่พึ่งติดตามมารดาบิดาไปในภพชาติที่เป็นสุคติภูมิต่อๆ ไป

.

            จากตัวอย่างพุทธพจน์ดังกล่าว ในฐานะที่สังคมไทยมีประชากรโดยมากนับถือพระพุทธศาสนา มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะศึกษาค้นคว้าหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา มาเป็นภูมิปัญญาในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีความพร้อมและมีความสุข ดังที่ผู้เขียนได้น้อมนำพุทธพจน์ที่ตรัสถึงการดูแลมารดาบิดาดังกล่าว มาเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นแนวทางคิดในการดูแลผู้สูงอายุได้ พร้อมกันนี้ยังมีหลักธรรมอื่นจำนวนมากในพระไตรปิฎกที่รอการศึกษา ค้นคว้าวิจัย นำมาใช้แก้ปัญหาในสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย สมกับเป็นเมืองพุทธเพราะได้ปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างแท้จริงในแนวทางหนึ่ง