thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

“การศึกษาศาสนาผ่านพิธีกรรมและปฏิสัมพันธ์ของคนที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดย อาจารย์ ดร.ภัทรธรณ์ แสนพินิจ

     คำว่า “พิธีกรรม” ซึ่งมีความหมายโดยกว้าง ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน (2554:835) ให้ความหมายคำว่า “พิธี” หมายถึงงานที่จัดขึ้นตามความเชื่อถือของขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความเป็นสิริมงคล เช่น พิธีมงคลสมรส,

     พิธีพระราชทานหรือประสาทปริญญา, พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น ในมุมมองของศาสนา จะพบคำว่าพิธีกรรมหมายถึงการบูชา แบบแผนหรือแบบอย่างที่ปฏิบัติในทางศาสนา

.

        การศึกษาศาสนาผ่านพิธีกรรมในมิติวัฒนธรรม พบว่ามีนักวิชาการหลายแขนงศาสตร์ที่อธิบายการเกิดพิธีกรรมในศาสนาไว้อย่างหลากหลาย นาธาน เซอเดอบลอมและรูดอล์ฟ ออตโตเป็นนักวิชาการศาสนาได้อธิบายพิธีกรรมและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในพิธีกรรมแรกเริ่ม พบว่าปรากฏแนวความคิดเรื่องความสูงส่งและความศักดิ์สิทธิ์ถือว่าเป็นโลกของศาสนา เพราะนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเกิดขึ้นของศาสนา ซึ่งสอดคล้องกับนักสังคมวิทยาอย่างเอมิล ดุรไคม และแมกซ์ เชเลอร์ ที่เน้นถึงความศักดิ์สิทธิ์และความสูงส่งเช่นเดียวกัน โดยเชื่อมโยงถึงประสบการณ์ทางศาสนาของมนุษย์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงเกิดความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ผู้คนเคารพนับถือต่อองคภาวะที่เหนือธรรมชาติ (supernatural entity)

.

         กล่าวได้ว่า ความคิดเรื่องการทำพิธีกรรมในศาสนาจึงเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” (Sacred) และ “สิ่งสูงส่ง” (Holy) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของพิธีกรรมในศาสนา ซึ่งเกี่ยวโยงผูกพันกับสิ่งที่เคารพนับถือในศาสนาต่าง ๆ จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกอบพิธีการให้บรรลุสู่ความเข้มขลัง และมีความศักดิ์สิทธิ์ หากพิจารณาภาพกิจกรรมทางศาสนาในอดีตมักจะเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความยิ่งใหญ่ และความน่าเกรงขาม นับตั้งแต่ในสังคมปฐมบรรพ์ ปรากฏเป็นพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การบูชาและเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ  บรรพบุรุษ และผีสางเทวดาด้วยความรู้สึกของคนที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งในแง่ของความศรัทธาต่อการมีอยู่จริงของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถให้คุณได้ และในอีกแง่คือความเกรงกลัวในพลังอำนาจซึ่งสามารถให้โทษได้

.

          ดังนั้น การประกอบพิธีกรรมส่วนใหญ่กระทำขึ้นเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีความพอใจแล้วให้พรหรืองดโทษภัยทั้งหลาย ผ่านการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การบูชา (Worship), การบวงสรวง (Propitiation), การสังเวย (Sacrifice), การก้มคำนับน้อม (Obeisance), การสวดมนต์อ้อนวอน (Prayer) และการทำให้บริสุทธิ์ (Purification) เป็นต้น

.

          สำหรับศาสนาสำคัญที่นับถือกันในปัจจุบัน มีหลักคำสอนทางศีลธรรม และมีศาสดาและเทพเป็นสัญลักษณ์ของความ

ดีงามและเกี่ยวข้องกับความคิดเรื่องความบริสุทธิ์ ซึ่งตรงข้ามกับความชั่วร้ายและความไม่บริสุทธิ์ ในคริสต์ศาสนา พระเยซูผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า ทรงถือกําเนิดมาเพื่อไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ และมนุษย์จะสามารถรอดพ้นได้ด้วยการยึดมั่นในคุณธรรมของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมที่มนุษย์พึงปฏิบัติตาม โดยมนุษย์ต้องผ่านบททดสอบความศรัทธาและความรักในพระองค์ ซึ่งในระหว่างนั้นอาจพบเจอสิ่งชั่วร้ายในบททดสอบมากมาย มนุษย์จะสามารถเติบโตได้จากเส้นทางดังกล่าวโดยอาศัยการดําเนินชีวิต และหลักคําสอนของพระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างทางศีลธรรม ดังนั้น พิธีกรรมในคริสต์ศาสนา จึงมีความสําคัญต่อการระลึกถึงพระเยซูผ่านพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ (Sacraments) เช่น ศีลมหาสนิท (Holy Communion), ศีลจุ่ม (Baptism) พิธีรับชำระล้างบาป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความบริสุทธิ์ด้วยการแสดงออกถึงความศรัทธาต่อพระองค์

.

            จากตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มของศาสนาเทวนิยมมักมีพิธีกรรมการระลึกถึงพระเจ้าโดยมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน ส่วนศาสนาพุทธนั้น แท้จริงแล้วพิธีกรรมมิใช่สิ่งสําคัญแต่อย่างใด แม้จะปรากฏขึ้นมาจากเหตุผลทางสังคมและวัฒนธรรมก็ตาม แต่ก็ช่วยให้ชาวพุทธได้รวมหมู่รวมพวก และมีผลต่อมิติทางจิตใจเพื่อค่อย ๆ น้อมนําจิตใจให้เข้าสู่หลักธรรมคําสอนในพุทธศาสนา

.

            บทเรียนสำคัญจากการศึกษาศาสนาผ่านพิธีกรรมและปฏิสัมพันธ์ของคนที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ย่อมทำให้เข้าใจถึงพัฒนาการเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมศาสนา และสะท้อนให้เห็นบทบาทของศาสนาและความเชื่อในการประสานสังคมและการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ  ทำให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมีความผูกพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอย่างยาวนาน มนุษย์จะใช้พิธีกรรมทางศาสนาผนวกกับความคิดเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติที่สอดคล้องกับความเชื่อในระบบสังคมตลอดจนวัฒนธรรมของตน และเกี่ยวโยงกับการมีความหวัง กำลังใจ และแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าและความหมาย สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของศาสนาที่มีต่อมนุษย์ ซึ่งเป็นแหล่งหล่อหลอมให้เกิดกำลังใจที่จะต่อสู้และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้หรือ

ที่นักวิชาการศาสนาเรียกว่า “การดิ้นรนทางจิตวิญญาณ” (Spiritual Struggle) ซึ่งเกิดขึ้นกับสภาวะทางจิตใจของมนุษย์