thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

“พระไตรปิฎกบาลีฉบับใบลาน” โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา  ศรีเศรษฐวรกุล

พระไตรปิฎกบาลีฉบับใบลาน

โดย อาจารย์ ดร.สุชาดา  ศรีเศรษฐวรกุล

 

                 ในปัจจุบันมีพระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์ที่สำคัญในแต่ละประเทศอยู่หลายฉบับ เช่น พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ (อักษรไทย), พระไตรปิฎกบาลีฉบับฉัฏฐสังคีติ (อักษรพม่า), พระไตรปิฎกบาลีฉบับพุทธชยันตี (อักษรสิงหล) เป็นต้น โดยต้นฉบับในการจัดทำพระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์เหล่านี้ ก็คือ คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานในสายจารีตของตนที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมา โดยอาจแบ่งกลุ่มตามตัวอักษรที่ใช้จารกันมาแต่โบราณหรือที่เรียกว่าสายจารีตได้เป็น 4 สายหลัก คือ สายอักษรสิงหลในศรีลังกา สายอักษรพม่าในเมียนมา สายอักษรขอมในไทยและกัมพูชา และสายอักษรธรรมในตอนเหนือและอีสานของไทยรวมถึงลาวซึ่งเป็นดินแดนล้านนาและล้านช้างในอดีต ซึ่งคัมภีร์ใบลานในแต่ละสายจารีตต่างก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของใบลานและธรรมเนียมความนิยมในแต่ละท้องถิ่น

                โดยทั่วไป คัมภีร์ใบลานจะถูกเก็บรวมเป็นมัด มีไม้ประกับประกบส่วนบนและส่วนล่างเพื่อเพิ่มความแข็งแรง อาจมีการห่อเก็บด้วยผ้าเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษา สำหรับส่วนที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับคัมภีร์ใบลานนั้น ๆ เช่น เป็นคัมภีร์ใด ใครเป็นผู้สร้าง สร้างที่ใด เมื่อปีใด เป็นต้น หรือที่เรียกว่า บันทึกผู้จาร (Colophon) อาจเขียนไว้ในใบลานหน้าแรกหรือหน้าสุดท้ายหรือเขียนในวัสดุที่แยกต่างหาก

                 ลักษณะทางกายภาพของคัมภีร์ใบลานในแต่ละสายจารีตมีความแตกต่างกันตามวัสดุที่ใช้ ความนิยมและธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นต้น โดยหากเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพของคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานของแต่ละสายจารีตพบว่า  คัมภีร์ใบลานสายอักษรสิงหลมีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนคัมภีร์ใบลานสายอักษรพม่ามีความสูงใกล้เคียงกับสายสิงหลแต่สั้นกว่า โดยคัมภีร์ใบลานของทั้งสองสายอักษรมีจำนวนบรรทัดในแต่ละหน้าใบลานประมาณ 8 -10 บรรทัด และไม่มีการแยกเป็นผูกย่อยภายในหนึ่งมัดใหญ่

                  ในขณะที่คัมภีร์ใบลานอักษรขอมและคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมมีขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งมีความสูงน้อยกว่าคัมภีร์ใบลานของสายสิงหลและพม่าแต่มีรูปร่างค่อนข้างยาว โดยคัมภีร์ใบลานอักษรขอมมีจำนวนบรรทัดในแต่ละหน้าใบลาน 5 บรรทัด และคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมมีจำนวนบรรทัดในแต่ละหน้าใบลานประมาณ 4-6 บรรทัด และมีการแยกเป็นผูกย่อย ๆ ผูกละประมาณ 24 ใบลาน หรือประมาณ 48 หน้าใบลานในหนึ่งมัดใหญ่

                   คัมภีร์ใบลานที่พบในปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ และวัดเก่าแก่ต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ และบางส่วนนักวิชาการชาวตะวันตกก็มาค้นพบและนำกลับไปสู่ประเทศของตน โดยเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือหอสมุดต่าง ๆ และบางส่วนก็ได้รับความเสียหายและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา โดยในปัจจุบันได้มีหลายหน่วยงานได้พยายามสำรวจ และถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานเก็บเป็นไฟล์ภาพอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนสร้างเป็นฐานข้อมูล เพื่ออนุรักษ์และส่งต่อข้อมูลอันทรงคุณค่าในคัมภีร์ใบลานสู่คนรุ่นต่อไป

ที่มา : บทความ “พระไตรปิฎกบาลีฉบับอิเล็กทรอนิกส์” จากหนังสือ “เรื่องเล่าพระไตรปิฎก”