thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ว่าด้วยเรื่องศาสนาและจิตวิทยา โดย อาจารย์ ดร.ภัทรธรณ์ แสนพินิจ

ว่าด้วยเรื่องศาสนาและจิตวิทยา

โดย อาจารย์ ดร.ภัทรธรณ์ แสนพินิจ

               ศาสนาและความเชื่อเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางอารมณ์ ความรู้สึก และสภาวะจิตใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความลึกซึ้ง หนึ่งในวิธีการศึกษาศาสนาคือวิธีการจิตวิทยา (The Psychological Approach) ชี้ให้เห็นว่าศาสนาไม่ได้เป็นเพียงการสั่งสอนทางศีลธรรม หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นมุมมองที่หลากหลายของพฤติกรรมมนุษย์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของชีวิต ไปสู่พัฒนาการต่าง ๆ ตามภาวะความเป็นบุคคล การมีศาสนา จิตสำนึกทางศาสนา ประสบการณ์ศาสนา พฤติกรรมทางศาสนา ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสภาวะทางจิตใจที่มีอิทธิพลต่อศาสนาและที่ศาสนามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์
               การอธิบายศาสนาเชิงจิตวิทยาเป็นอีกแนวหนึ่งที่น่าสนใจ อย่างการศึกษาประสบการณ์ทางศาสนาของวิลเลี่ยม เจมส์ (William James) เป็นหนึ่งในวิธีการวิเคราะห์สภาพจิตใจของบุคคลเกี่ยวกับจิตสำนึกทางศาสนา เจมส์อธิบายว่าศาสนาหมายถึงความรู้สึก การกระทำ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคลที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าถึงภาวะพิเศษหรือความศักดิ์สิทธิ์นั้น ปรากฏในรูปแบบที่หลากหลายทั้งทางศีลธรรม และทางพิธีกรรม แนวทางนี้ช่วยทำให้เห็นว่าคุณค่าของศาสนาคือการแสวงหาความสุข และยังช่วยเยียวยาความเจ็บป่วยทางจิตใจ แนวทางการศึกษาดังกล่าวสนับสนุนให้เกิดการวิจัยศาสนาโดยนำกระบวนการวิจัยทางจิตวิทยามาใช้เป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์ศาสนาในระยะต่อมา
               จิตวิทยาศาสนาแพร่หลายในหมู่คนชาติตะวันตก เนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากคือพฤติกรรมทางศาสนา การประกอบพิธีกรรม และศาสนปฏิบัติ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้เห็นความเชื่อของบุคคลผูกพันกับความรู้สึกนึกคิด ความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนหลักธรรมคำสอนในศาสนา การวิจัยทางจิตวิทยาศาสนาจึงมีตัวแปรเป็นความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมทางศาสนาที่บุคคลแสดงออก ตลอดจนพฤติกรรมการเข้ารับความเชื่อ และความหนักแน่นของความศรัทธาในศาสนา
               ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักวิชาการและนักวิจัยพยายามหาสาเหตุที่ผู้คนนับถือศาสนา ซึ่งพบว่ามีหลากหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคือการรับมือกับความกลัวในชีวิต เช่น ภัยพิบัติ ความตาย และโรคภัย พบว่ามีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อทางศาสนาช่วยลดภาวะความวิตกกังวลและความทุกข์ในชีวิต เช่น การวิจัยทางพบว่าเมื่อมนุษย์มีอายุมากขึ้น หรือแม้แต่ในสถานการณ์ที่มนุษย์ประสบวิกฤตการณ์ เช่น การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มนุษย์จะมีแนวโน้มในการเข้าหาศาสนาและแสวงหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจมากกว่าสถานการณ์ปกติทั่วไป นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นที่บ่งชี้ถึงการศึกษาว่าศาสนาและความเชื่อดึงดูดผู้คนได้เพราะการตอบสนองความต้องการพื้นฐานในชีวิต ดังที่ศาสตราจารย์ Steven Reiss ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา The Ohio State University กล่าวว่า “ มิใช่เพียงแต่เรื่องของความกลัวเท่านั้น แต่ผู้คนเชื่อในศาสนาเพราะการเปิดกว้างและรองรับการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานทั้งหมดของพวกเขาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ” ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบในงานวิจัยหนึ่งของดิฉัน บ่งชี้ถึงอิทธิพลของความเชื่อในศาสนาพื้นบ้าน (Folk Religion) ที่มีต่อการสร้างความหวังและกำลังใจต่อการดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนวิจัยเรื่องของการบูชาเครื่องรางสัตว์ที่มีอยู่จนถึงปัจจุบัน สะท้อนความสัมพันธ์กับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และสนับสนุนให้เกิดค่านิยมต่างๆ ในการใช้ชีวิตและกิจการงานอาชีพ
               การศึกษาจิตวิทยาศาสนาจึงถือว่าเป็นความก้าวหน้าในวงการทั้งศาสนศึกษา และจิตวิทยา และยังเกิดเป็นผลพลอยได้ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าวิทยาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดผู้คนถึงยอมรับนับถือศาสนา พระเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การศึกษาดังกล่าวยังทำให้เกิดความเข้าใจในศาสนาและความเชื่อของมนุษย์ และบทบาทของศาสนาต่อมิติทางจิตใจของมนุษย์ในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนแนวโน้มของความเชื่อและพฤติกรรมทางศาสนาในอนาคต
               ปัจจุบันวิทยาลัยศาสนศึกษา ม.มหิดล เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาศาสนศึกษา ด้วยการนำความรู้จากวิทยาการสมัยใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา และมานุษยวิทยามาใช้ในการศึกษาศาสนา ปัจจุบันมีหลายวิชาที่น่าสนใจ เช่น ศาสนาและมิติทางจิตใจ, ศาสนา วิทยาศาสตร์และการเยียวยารักษาแบบองค์รวม และศาสนา จิตวิทยา และการพัฒนาตน เป็นต้น และยังมีโครงการบริการวิชาการและคอร์สระยะสั้น สำหรับบุคคลผู้สนใจ โดยคณาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โปรดติดตามการประชาสัมพันธ์ในเพจของวิทยาลัยฯ
ข้อมูลอ้างอิง: Steven Reiss. (2015). The psychology behind religious belief. OHIO STATE NEWS [Online].
ภัทรธรณ์ แสนพินิจ. (2565). เครื่องรางสัตว์นำโชคที่ปรากฏในนิตยสารไทย: ค่านิยมของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน. วารสารกระแสวัฒนธรรม, 23(43).