thติดต่อเรา (02) 800-2630
thติดต่อเรา (02) 800-2630

ชาวพุทธที่ดีเป็นอย่างไร โดย อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ

ชาวพุทธที่ดีเป็นอย่างไร

โดย อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ

               ปัจจุบันพุทธศาสนาประสบปัญหาหลายอย่าง จนหลายๆคนถึงกับเอ่ยว่า พุทธศาสนาถึงยุคเสื่อมแล้ว ซึ่งหากเราพิจารณาอย่างรอบคอบจะพบว่า ศาสนาก็ดำรงอยู่ ทว่าสิ่งที่เสื่อม คือ “คน” ผู้ที่ต้องนำคำสอนของศาสนามาปฏิบัติต่างหาก
               ชาวพุทธหลายคนที่พูดว่าตนเองนับถือศาสนาพุทธนั้น แท้ที่จริงแล้ว หลายคนไม่รู้ว่าศีล 5 หมายถึงอะไร ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร อะไรคือแก่นแท้ของพุทธศาสนา และที่สุดก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเขาควรปฏิบัติตนอย่างไรในฐานะที่นับถือพุทธศาสนา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
               บางคนอาจมีข้อโต้แย้งว่า หลักธรรมของพุทธศาสนามีมากมาย ใครจะไปรู้ว่าต้องทำตามข้อไหน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี หรือหากจะให้ทำทั้งหมดก็คงไม่ไหว เพราะแค่จำยังจำไม่ได้เลย
               จริงๆแล้ว การเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีนั้นมีหลักเพียงแค่ 5 ข้อเท่านั้น หลักธรรมนี้เรียกว่า อุบาสกธรรม 5 ซึ่งมีหลักปฏิบัติที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก
               อุบาสกธรรม 5 นี้ ข้อแรกก็คือ การมีศรัทธาในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พระพุทธก็คือพระพุทธเจ้า พระธรรมก็คือคำสั่งสอนของพระองค์ ส่วนพระสงฆ์นั้นท่านหมายเอาถึงพระอริยสงฆ์ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป สำหรับพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น เป็น สมมติสงฆ์ คือ สงฆ์โดยสมมติ แม้อย่างนั้นก็ตาม สมมติสงฆ์ก็ยังมีบุญคุณในฐานะที่สืบทอดพุทธศาสนา ซึ่งเราควรเคารพบูชาเช่นกัน อย่างไรก็ดี ศรัทธาที่ถูกต้องนั้นจะต้องมีปัญญากำกับด้วยเสมอ เพื่อไม่ให้ศรัทธาไปปะปนกับคำว่า งมงาย
               ข้อที่ 2 ก็คือ การมีศีล ศีลที่เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปก็คือ ศีล 5 และบางท่านหากมีโอกาสก็ปฏิบัติศีล 8 ด้วย ซึ่งศีลนี่เองที่จะเป็นเครื่องช่วยทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ไม่เกิดการเบียดเบียน
               หลักข้อที่ 3 ก็คือ การไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล หมายถึง การมุ่งหวังจากการกระทำและการงานของตนเอง ไม่ใช่หวังจากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ยันต์ ต้นไม้ เสาตกน้ำมัน หรือพอเห็นผ้าเจ็ดสีไปผูกติดกับอะไรก็ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ไปหมด การเชื่อมงคลตื่นข่าวจะทำให้โดนหลอกได้ง่าย หรือแม้แต่พระพุทธรูปนั้น ก็คือ สิ่งที่สร้างมาเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า จะพระพุทธรูปที่ไหน องค์ใดก็คือสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ไม่มีองค์ไหนศักดิ์สิทธิ์กว่าองค์ไหน และพระพุทธรูปก็ไม่ได้บันดาลสิ่งที่ขอให้เป็นจริง ไหว้พระก็คือไหว้พระพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณท่านที่ทรงมีพระกรุณาต่อเรา อย่างไรก็ดีการยึดพระพุทธรูปเป็นที่พึ่งทางใจก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าให้มากจนมองพระพุทธรูปเป็นตัวแทนเทพเจ้าไป
               หลักข้อที่ 4 ของอุบาสกธรรมก็คือ การไม่แสวงหาหลักเขตบุญนอกพุทธศาสนา การได้พบพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ประเสริฐ แต่บางคนกลับไม่เชื่อในหลักธรรมของศาสนา ไปเชื่อหมอดูหรือพวกทรงเจ้าแทน มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่งเล่าว่า มีพระราชาอยู่องค์หนึ่ง โหรได้ทำนายว่า พระราชาจะตายภายในหกเดือน พระราชาได้ฟังก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่เป็นอันทำการทำงาน อำมาตย์จะเตือนสติอย่างไรก็ไม่ได้ผล วันหนึ่งอำมาตย์จึงถามโหรต่อหน้าพระราชาว่า ตัวโหรเองจะมีอายุยืนยาวเท่าไหร่ ตัวโหรก็บอกว่าตามดวงข้าจะมีอายุยืนยาวนานอีกหลายปี อำมาตย์จึงชักดาบออกมาตัดศีรษะของโหรแล้วทูลถามพระราชาว่า จะยังทรงเชื่อคำทำนายอีกไหม พระราชาจึงเลิกกังวลตั้งแต่นั้นมา
               ส่วนหลักข้อ 5 ข้อสุดท้ายก็คือ การขวนขวายอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ทำอยู่แล้ว แต่มักจะไปเน้นทางด้านวัตถุมากกว่า ทั้งที่จริงแล้วการบำรุงพุทธศาสนาที่ดีที่สุดก็คือการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งก่อนจะปฏิบัติได้ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ รู้จักแยกแยะ รู้จักใช้ปัญญา บางคนพอเห็นพระไม่ดีก็พาลไม่ใส่บาตรไม่ทำบุญไปเลย เพราะรังเกียจพระสงฆ์ โดยไม่แยกแยะว่าพระที่ดีก็มี พระที่ไม่ดีก็มีปะปนกันไปทุกสังคมเหมารวมไม่ได้ ดังนั้นการบำรุงพระศาสนาจึงต้องบำรุงอย่างมีปัญญา อย่าใช้ศรัทธานำหน้าอย่างเดียว เพราะจะตกเป็นเหยื่อของคนลวง หรือคนที่ไม่หวังดีต่อพระศาสนาได้
               หลักอุบาสกธรรมทั้ง 5 ข้อนี้ หากนำมาปฏิบัติและมีอยู่ในใจของชาวพุทธทุกคนแล้ว เชื่อได้ว่า ประโยคที่ว่า “ศาสนาพุทธเสื่อมลงทุกวัน” คงจะกลายเป็นแค่อดีตเท่านั้น เนื่องจากชาวพุทธรู้แล้วว่าพุทธศาสนิกชนที่ดีเป็นอย่างไร และทำอย่างไรพุทธศาสนาจึงจะมั่นคงได้นานเท่านาน