วิทยาลัยศาสนศึกษาและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เสนอผลการวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์ผลการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน
ด้วยสัญญาณคลื่นสมองระบบวิทยาศาสตร์”

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙

            เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๓๐ น. วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะผู้วิจัยอันประกอบด้วย ดร.ปิยะดี ประเสริฐสม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ดร.พระราชสิทธิมุนี (วิ.) นายพงษ์ศักดิ์ หมื่นศักดา นางสาวฐิติพร สีวันนา และนางสาวเบญจวรรณ นิลคง ได้จัดการประชุมเพื่อเสนอผลการวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์ผลการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ด้วยสัญญาณคลื่นสมองระบบวิทยาศาสตร์” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมน้ำทอง วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
            การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) เป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กับ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โครงการนี้เป็นโครงการส่งเสริมการยกระดับการศึกษาวิจัยและการปฏิบัติกรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ในพระพุทธศาสนา โดยประยุกต์เข้ากับการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
            วัตถุประสงค์ของการวิจัยมี ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาพัฒนาการสติปัฏฐาน ๔ และผลสัมฤทธิ์ในวิปัสสนาญาณ ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของวิปัสสนาญาณที่เกิดจากการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ต่อสัญญาณสมองโดยใช้ระบบวิทยาศาสตร์ และ ๓) เพื่อศึกษาผลวิเคราะห์พัฒนาการสติปัฏฐาน ๔ และผลสัญญาณสมองด้วยระบบวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาสุขภาพกายและใจของผู้ปฏิบัติ และนำองค์ความรู้ที่ได้ประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อบุคคล สังคม และประเทศชาติ
            ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก เนื่องจากเป็นนามธรรมและรู้ได้เฉพาะผู้ปฏิบัติ คณะผู้วิจัยจึงนำอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยพิสูจน์เพื่อเป็นข้อมูลเชิงรูปธรรม โดยเชื่อมต่อสัญญาณสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ (BCI : Brain Computer Interface) ก่อนและหลังการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนได้กลุ่มตัวอย่าง ๔๔ รูป/คน ดังกล่าว
            ผลการวิจัยนี้พบว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานส่งผลดีต่อผู้ปฏิบัติในการเพิ่มภาวะความสงบนิ่ง และลดความฟุ้งซ่านหรือความเครียด เนื่องจากการนั่งวิปัสสนากรรมฐานจะช่วยเพิ่มปริมาณคลื่นสมองช่วงความถี่ต่ำ และลดปริมาณคลื่นสมองช่วงความถี่สูง (ความถี่ของคลื่นสมอง เรียงจากสูงไปต่ำ ได้แก่ High Beta/ความวิตกกังวล, การตื่นตัวมากเกินไป Beta/การคิด, ความมุ่งมั่น, ความตั้งใจ Alpha/ความเตรียมพร้อมในการทำงาน, ความสงบ Theta/ความคิดสร้างสรรค์, ความคิดที่ลึกซึ้ง และ Delta/การนอน, การซ่อมแซมสมอง, การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน)
            ในกลุ่มผู้ไม่เคยปฏิบัติวิปัสสนามาก่อน พบว่าหลังการปฏิบัติแล้ว ผู้ปฏิบัติมีความสงบนิ่ง หรือแสดงถึงความพร้อมของสมองที่จะทำงานและแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ในกลุ่มผู้เคยปฏิบัติมาก่อน พบว่าหลังจากการปฏิบัติแล้ว มีการทำงานของสมองที่สอดคล้องกับความคิดเชิงลึกซึ้ง
            จากผลการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์นี้สอดคล้องกับหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในมหาสติปัฏฐานสูตรว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นทางสายเดียวที่ปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความดับทุกข์ เพื่อบรรลุพระนิพพาน จึงควรส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปนำวิธีการปฏิบัติกรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ นี้ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางต่อไป
            ในวันนำเสนอผลการวิจัยเรื่องนี้ มีการสาธิตการวัดสัญญาณสมองโดยใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อสัญญาณสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ (BCI : Brain Computer Interface) แสดงผลการวัดคลื่นสมองบนจอฉายภาพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสาคร ธนมิตต์ ผู้เข้าร่วมฟังการเสนอผล ได้อาสาเป็นผู้รับการวัดสัญญาณสมองตอนนิ่งสงบ ตอนพูด และตอนกัดฟัน ทำให้ที่ประชุมประจักษ์เห็นผลความแตกต่างของสมองในแต่ละอารมณ์ และเข้าใจการนำเสนอผลการวิจัยมากยิ่งขึ้น






<<< อ่านทั้งหมด >>>